เอแอลที ร่วมมือสยามแคนนาเทค – บริษัทโรงงานเภสัชฯ เจเอสพี ต่อยอด “โครงการเกษตรอินทรีย์เขาค้อ อินโนเวชั่นพาร์ค” ในการปลูกกัญชา เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เผยใช้แพลตฟอร์ม AI เกาะติดทุกขั้นตอนการปลูกกัญชานำข้อมูลหรือ Big data มาวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยรวมทั้ง รักษาสมดุลผู้ซื้อและผู้ปลูก และสร้างประสิทธิภาพสูงสุดทั้งคุณภาพและราคา
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือ “โครงการเกษตรอินทรีย์ เขาค้อ อินโนเวชั่น พาร์ค” ในส่วนของบริษัทสยามแคนนาเทค จำกัด กับ บริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรมเจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทสยามแคนนาเทค จำกัด กับบริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT โดยมีพลเอกพลางกูร กล้าหาญ รองประธานกรรมการมูลนิธิร่มกล้า เขาค้อ มาร่วมเป็นสักขีพยาน
นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT กล่าวว่า โครงการเกษตรอินทรีย์ เขาค้อ อินโนเวชั่น พาร์ค เป็นโครงการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ พืชพรรณ สมุนไพร พืชยา กัญชา และผักต่างๆ ตามโครงการทหารพันธุ์ดี ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนอีกทางหนึ่ง
“เรายินดีและภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือโครงการเกษตรอินทรีย์ เขาค้อ อินโนเวชั่น พาร์ค ซึ่ง ALT ทำธุรกิจเทเลคอม อินโนเวชั่น เป็นหลัก ได้นำเอาองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา ดัดแปลงทำเป็นแพลตฟอร์มในการตรวจติดตามการปลูกกัญชา เพราะตัวกัญชา ถือเป็นสารเสพติดประเภท 5 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจติดตามตั้งแต่เมล็ด การเพาะปลูก และการเติบโตเป็นอย่างไร โดยใช้ AI ในการติดตามประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อไปทำ Big Data ให้สามารถคาดการณ์ว่า การผลิตจะออกมาวันไหน เดือนไหน เท่าไหร่ เพื่อไปสู่การใช้เทคโนโลยีด้านเกษตรแม่นยำ ( Agriculture Technology) และ ระบบสามารถ แมชชิ่งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด หรือไม่ทำให้ราคาสูงจนเกินไป แพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่งผลผลิตได้ตามเวลาที่ต้องการ ให้ราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเป็นแหล่งเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย”
ด้านดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเห็นการทำงานครบ value chain โดยทางโครงการเกษตรอินทรีย์หรือมูลนิธิ เป็นเสมือนแกนกลางในการเชื่อมโยงภาคเอกชน 3 ส่วน คือ ผู้ปลูก ซึ่งผู้ปลูกก็ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย ส่วนปลายน้ำคือผู้ผลิต ก็คือบริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรมเจเอสพี จะการดำเนินการผลิต ทั้งที่เป็นยาแผนปัจจุบัน สมุนไพร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง รวมทั้งเครื่องมือที่อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตสกัดกัญชา กัญชง และพืชเสพติด
ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้ ทางผู้ปลูกสามารถทำหน้าที่ซัพพลายกัญชา หรือพืชสมุนไพรอื่นให้กับบริษัทโรงงานเภสัชฯ เจเอสพี นำมาสกัดโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือใช้แพทย์แผนไทยมาต่อยอดในการสกัดสมุนไพรเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ยาแผนโบราณ อาหารเสริม เครื่องสำอาง ที่มาจากน้ำมันกัญชา ทำเป็นครีมเซรั่ม ถือเป็นความร่วมมือที่ครบทั้งห่วงโซ่อุปทาน คือต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
พลเอก พลางกูร กล้าหาญ รองประธานกรรมการมูลนิธิร่มเกล้าเขาค้อ กล่าวว่าโครงการนี้เกิดขึ้นมาหลายสิบปี โดยพลเอกพิจิตร กุลวนิช ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ต้องการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในพื้นที่เขาค้อ และจังหวัดใกล้เคียง จึงเกิดแนวคิดในการนำวัตถุดิบมาแปรรูป และทำเป็นศูนย์กลางเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างบริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี และบริษัทเอแอลที จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้เป็นที่ทราบดีว่าเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดการเสียชีวิตซึ่งทางศูนย์จะเร่งดำเนินการเรื่องฟ้าทะลายโจรเพื่อช่วยเหลือประชาชนรวมทั้งจะปลูกพืชที่เป็นประโยชน์คือกัญชา กัญชง หรืออื่นๆ
โดย ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทจะทำให้การก้าวเดินไปได้ตามที่กำหนด และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่อาจไม่ได้เห็นผลภาย 6-12 เดือนแต่มั่นใจว่าจะเห็นผลในอีก 3 ปีข้างหน้า และในอนาคตอาจขายไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย
ข่าวเด่น