เริ่มเห็นผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทย ล่าสุดสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์ของภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยว่า วิกฤตหนัก โดยดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนก.ค. 2564 ที่ผ่านมาดิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน หรือติดลบถึง 70% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 2.7 แสนล้านบาท
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยถึงจุดวิกฤตหนัก คือ การที่ร้านค้ากว่า 100,000 ร้านค้า เตรียมปิดกิจการ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รุนแรง ส่งผลให้การจ้างงานมีปัญหา หรือกล่าวคือ แรงงานกว่า 1 ล้านคนอาจตกงาน ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้บรรดาผู้ประกอบการร้านค้าต้องออกมาร้องขอภาครัฐให้เร่งสปีดมาตรการเยียวยาให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และพยุงการจ้างงาน รวมไปถึงการขอให้ภาครัฐเร่งสถาบันการเงิน เพื่อขออนุมัติสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า มีความรุนแรงกว่าระลอกแรก และระลอกที่ 2 แม้ว่าภาครัฐจะพยายามสกัดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการประกาศขยายมาตรการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวในเดือนส.ค. โดยการขยายพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยยังน่าเป็นห่วง จนทำให้มีการออกมาคาดการณ์ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจยิงยาวไปจนถึงปี 2566 และประมาณกลางปี 2566 ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกจึงจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) ยังระบุอีกว่า ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นในตอนนี้อยู่ที่ระดับ 16.4 ถือว่าลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน หรือคิดเป็นความเชื่อมั่นติดลบ 70% และการลดลงของยอดขายของค้าปลีกในสาขาเดิมช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หรือ Same Store Sale Growth (SSSG) ซึ่งเกิดจากทั้ง การใช้จ่ายต่อบิล หรือ Spending Per Bill และการใช้จ่ายต่อครั้ง หรือ Per Basket Size รวมไปถึงความถี่ในการจับจ่าย หรือ Frequency on Shopping มีการปรับตัวลดลงทั้งหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก และสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าอุตสาหกรรมค้าปลีกจะกลับมาฟื้นตัวต้องใช้เวลา
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า จากดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงดังกล่าว ทางสมาคมฯ คาดว่าภาคการค้าปลีกและบริการในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะทรุดหนัก และอัตราการเติบโตโดยรวมในสิ้นปีนี้จะติดลบ เนื่องจากแนวโน้มของดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 27.6 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าดัชนีช่วงเดือนเม.ย.2563 ที่ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 32.1 สะท้อนถึงความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีความล่าช้า และมาตรการการเยียวยาที่ยังไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศอัดฉีดออกมายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
พร้อมกันนี้ จากข้อมูลยังพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีกมีการปรับลดลงอย่างมาก เนื่องจากร้านค้าปลีกทุกประเภทมียอดขายและรายได้ลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกประเภทร้านอาหารได้รับผลกระทบโดยตรงและหนักสุดจากมาตรการการล็อคดาวน์ ส่งผลให้ยอดขายที่ได้ลดลงกว่า 80-90 % เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมิ.ย. 2564 ส่วนร้านค้าประเภทสะดวกซื้อก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่กำหนดให้ปิดบริการตั้งแต่ 21.00 - 04.00 น. ส่งผลให้มีผลต่อยอดขายหายไปกว่า 20 - 25% เนื่องจากจำนวนสาขาของร้านค้าสะดวกซื้อกว่า 40% ตั้งอยู่ในเขตสีแดงเข้ม
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า หากสรุปประเด็นสำคัญของการประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและการจ้างงานต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ในมุมมองของผู้ประกอบการช่วงเดือนก.ค.2564 จะพบว่า
1.ผู้ประกอบการกว่า 90% เห็นว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนมิ.ย.2564 ค่อนข้างมาก เพราะมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของแผนการฉีดและกระจายวัคซีนของภาครัฐ
2.ผู้ประกอบกว่า 63% ประเมินว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ปรับตัวลดลงมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. 2564 เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีพฤติกรรมในการกักตุน หรือ Stock Up เพราะกำลังซื้อลดลง
3.ผู้ประกอบการ 61% ยอมรับว่าการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% เป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิว
4.ผู้ประกอบการกว่า 41% มีการปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงาน เพราะธุรกิจมียอดขายและ ค่าธรรมเนียนการขายที่ลดลง
5.ผู้ประกอบการ 53% มีสภาพคล่องทางการเงินไม่ถึง 6 เดือน สะท้อนถึงภาวะธุรกิจที่ฝืดเคืองและการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ยังคงเป็นปัญหาต้องได้รับการแก้ไข
6.ผู้ประกอบการ 42% คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2564 จะหดตัว 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2563
7.ผู้ประกอบการ 90% ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเข้าสู่ระดับปกติ ในช่วงกลางปี 2566 หรืออาจจะนานกว่านั้น
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงมี 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้
1.ภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยานายจ้างช่วยจ่ายค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน 50% เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2.ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค 50% เป็นเวลา 6 เดือน
3.ภาครัฐต้องเร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ Soft Loan ให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอเงินกู้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วภายใน 30 วัน (ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย) หากการอนุมัติยังล่าช้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการกว่าแสนรายอย่างแน่นอน
4.ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ปัจจุบันกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้
ข่าวเด่น