การตลาด
EFORL ฉลุย! กำไร Q2/64 พุ่ง 358% ยอดขายเครื่องมือแพทย์รักษาโควิด -19 ทะลัก ครึ่งปีหลังสดใส หลุดเครื่องหมาย C ดันผลงานปี 64 โตทะลุเป้า


EFORL โชว์กำไรไตรมาส 2/64 แตะ 85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 358% ขณะที่รายได้รวมแตะ 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากงวดเดียวกันปีก่อน ทำสถิตินิวไฮ หลุดการขึ้นเครื่องหมาย C ผลจากยอดขายเครื่องมือทางการแพทย์ใช้รักษาโรคโควิด-19 โตแรง ฟาก “ ปรีชา นันท์นฤมิต ” ซีอีโอ ระบุครึ่งปีหลังแนวโน้มดี เผยมีคำสั่งซื้อแล้วมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท  ลุยประมูลงานใหม่ พร้อมเร่งนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ และสินค้าเกี่ยวข้องรักษาโรคโควิด-19 ผลักดันรายได้ปีนี้โตทะลุเป้า 2,000 ล้านบาท


 
นายปรีชา นันท์นฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จํากัด  (มหาชน) หรือ EFORL ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 38%  ขณะที่มีกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัท 85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 358%  ส่งผลให้บริษัทไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C กรณีที่ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 1,018 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากงวดเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวมเท่ากับ 759 ล้านบาท  และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 120 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 132% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 373 ล้านบาท

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งมียอดขายโตเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันบริษัทฯได้เน้นการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดี ส่งผลให้มีความสามารถในการทำกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งได้ปรับกลยุทธ์กลับมาให้ความสำคัญกับธุรกิจการจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน 
 

สำหรับแนวโน้มธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้เพิ่มต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ในมือ (Backlog) รวมกว่า 500 ล้านบาท เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมอนิเตอร์สัญญาณชีพผู้ป่วย (Patient Monitor) เครื่องตรวจสมรรถภาพปอดแบบ  Portable เครื่อง Oxygen High Flow ฯลฯ  และคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  ซึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด-19  ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการสูง รวมทั้งการร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งในประเทศ และต่างประเทศในการนำเครื่องมือทางการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ เข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม   

“ บริษัทจะเน้นสินค้าที่มีความต้องการสูงในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งมีหลายผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่แล้ว และมีออเดอร์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันบริษัทฯเร่งในการนำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน (Rapid Test) ของแบรนด์ชั้นนำระดับโลก Siemens ล็อตแรก 1 แสนชุดจะนำเข้ามาจำหน่ายก่อน จากนั้นก็จะทยอยนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง   ขณะเดียวกันบริษัทฯยังคงเดินหน้าประมูลงานโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะได้งานมูลค่ารวมทั้งหมด 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้รายได้ในปีนี้จะเติบโตได้ทะลุเป้าหมายกว่า  2,000 ล้านบาท”นายปรีชากล่าวในที่สุด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ส.ค. 2564 เวลา : 14:58:58
07-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 7, 2024, 12:34 am