มิลล์คอน สตีล โชว์ผลงานไตรมาส 2/64 กำไรพุ่งกว่า 297% รับอานิสงส์ปริมาณการขาย-ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น เผยมีรายได้จากการขายและบริการกว่า 4.4 พันล้านบาท ทั้งนี้หากรวม KMS จะกำไรสุทธิ 128 ล้านบาท ขณะที่การบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้น 37.4 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณอยู่ที่ 5.17 ล้านตัน
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน)หรือ MILL เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 297% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2563 ที่บริษัทมีกำไรสุทธิ 16 ล้านบาท
ทั้งนี้กำไรสุทธิดังกล่าว ยังไม่ได้รวมผลการดำเนินงานของ บริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัดหรือ KMS ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 50% กับโกเบสตีล ลิมิเต็ด ดำเนินการผลิตและจำหน่ายเหล็กลวดเกรดทั่วไปและเหล็กลวดเกรดพิเศษ ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายเหล็กลวดเกรดพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสามารถกลับมาดำเนินการมีผลกำไรได้แล้ว
โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 KMS มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 268 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 125 ล้านบาท หากรวมกับกำไรสุทธิของบริษัทในไตรมาสนี้ จะส่งผลให้MILL มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 128 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทมีรายได้รวมไตรมาส2/2564 จำนวน 4,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,846 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,621 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 4,413 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณขายเพิ่มขึ้น 39% ประกอบกับราคาขายเฉลี่ยปรับเพิ่มสูงขึ้นตามราคาเหล็กในตลาดโลก ซึ่งรวมถึงราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้บริษัทมีต้นทุนขายและบริการอยู่ที่ 4,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 231 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37%
ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 6 ล้านบาท หรือลดลง 6 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าขนส่งที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนทางการเงินลดลง 9 ล้านบาท จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลด และการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 มิ.ย 2564 อยู่ที่ 6,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103 ล้านบาท จากผลการดำเนินงาน ในช่วง 6 เดือนแรกของบริษัท ส่งผลให้มีหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.19 เท่า
นายประวิทย์ ยังได้กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กว่าจากสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีน ที่มีนโยบายปิดโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกเลิกนโยบายการคืนภาษีส่งออก (Tax rebate) ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาเหล็กในประเทศไทยด้วย ส่งผลให้การบริโภคเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ประเทศไทยมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 37.4 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณอยู่ที่ 5.17 ล้านตัน โดยการบริโภคเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น 34.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณอยู่ที่ 1.73 ล้านตัน แบ่งเป็นการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (Bar & HR section) อยู่ที่ 0.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 48.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน
ขณะที่การบริโภคเหล็กลวด (Wire rod) อยู่ที่ 0.70 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 28.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน การบริโภคเหล็กทรงแบน มีปริมาณอยู่ที่ 3.44 ล้านตันซึ่งเพิ่มขึ้น38.8%จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ข่าวเด่น