การตลาด
Special Report : ''ไทยยูเนี่ยน'' ชู 3 กลุยทธ์ ลุยธุรกิจสัตว์น้ำเอเชีย หลังขยายฐานผลิตในอินโดฯ-ปากีสถาน


อุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญของโลก เนื่องจากปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำที่มีเพียงพอต่อการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น  

 
สำหรับผลผลิตสัตว์น้ำที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็น กุ้งสดแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์กุ้ง ส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตกุ้งเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2563 และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังผู้ประกอบการไทยหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตสัตว์น้ำ เพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกมากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำ แบ่งออกเป็น 2 แหล่งหลักด้วยกัน คือ การจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะมีผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงมีการนำเข้าสัตว์น้ำบางประเภท  เพื่อนำมาแปรรูปและส่งออก ซึ่งจากข้อมูลประมาณการของกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์สถิติการประมงฯ มีการประเมินว่า ผลผลิตสัตว์น้ำของประเทศไทยในปี 2563 มีประมาณ 3,498,137 ตัน แบ่งเป็นผลผลิตที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 2,553,101 ตัน และมาจากการเพาะเลี้ยงประมาณ 945,036 ตัน   

ด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่ และโอกาสในการเข้าไปทำตลาดยังมีอีกมาก จึงทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่นเดียวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก ที่ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
 

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า จากการที่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำมีขนาดใหญ่  จึงทำให้มีหลายภาคธุรกิจเข้ามาเชื่อมโยงในอุตสาหกรรม  ประกอบด้วย  1. ธุรกิจต้นน้ำ ได้แก่ ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบให้กับธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. ธุรกิจกลางน้ำ ได้แก่ ธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและธุรกิจประมง ซึ่งเป็นผู้จัดหาผลผลิตสัตว์น้ำนำส่งให้แก่ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล และ 3. ธุรกิจปลายน้ำ เพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าอาหารทะเลสดให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมจำหน่ายและส่งออกไปยังตลาดหลักต่างๆ ของโลก   

ด้าน นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM  บริษัทในเครือไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่บริษัทได้อยู่ในธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ TFM ที่มุ่งเน้นการเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและหลากหลาย ครอบคลุมการเพาะเลี้ยงวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สามารถแข่งขันในตลาดได้   

 
ปัจจุบัน บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ TFM มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าทั้งหมด 5 แบรนด์ ประกอบด้วย  โปรฟีด (PROFEED) นานามิ (NANAMI) อีโก้ฟีด (EGOFEED) แอคควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW) โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารกุ้ง มีส่วนแบ่งการตลาดอาหารกุ้ง ประมาณ 17% ของปริมาณอาหารกุ้งไทย (ปี 2563) และมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 43.3% จากการขายอาหารกุ้ง ณ ไตรมาส 1/2564  

2. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพง ปลาเก๋า เป็นต้น 2. อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิล ปลาดุก 3. อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลา และ 4. อาหารกบ โดยบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารปลากระพง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลาที่มีราคาและอัตรากำไรค่อนข้างสูงกว่าอาหารปลาประเภทอื่นๆ ด้วยการมีส่วนแบ่งการตลาดอาหารปลากะพงอยู่ที่ 24% เป็นอันดับ 1 ในตลาดอาหารปลากระพงไทย (ปี 2563) และมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 41.4% จากการขายอาหารปลา ณ ไตรมาส 1/2564   

3. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์บก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. อาหารสุกร 2. อาหารสัตว์ปีก ได้แก่ อาหารไก่ อาหารเป็ด และอาหารนกกระทา ซึ่งหลังจากบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ ได้เริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์บกตั้งแต่ปลายปี 2561 พบว่าธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อ ส่งผลให้มีสัดส่วนรายได้ 10.5% จากการขายอาหารสัตว์บก ณ ไตรมาส 1/2564  
 

นายบรรลือศักร กล่าวต่อว่า  ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอาหารสัตว์ รวมทั้งหมด 288,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นกำลังการผลิตอาหารกุ้ง 168,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตอาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และกำลังการผลิตอาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี ภายใต้ระบบการผลิตที่ทันสมัยทั้งแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติที่ควบคุมและสั่งงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถแสดงคุณสมบัติและคุณภาพของสินค้าแต่ละขั้นตอนการผลิตที่สำคัญทั้งหมดในโรงงานจังหวัดสมุทรสาครและสงขลา จึงทำให้สามารถติดตามข้อมูลในระหว่างกระบวนการผลิตได้ทันที   

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จะให้ความสำคัญกับ 3 กลยุทธ์ ดังนี้ 1. รักษาและพัฒนาความเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศ ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายเดิมและลูกค้ารายใหม่ โดยเข้าไปศึกษาข้อมูลช่วยแก้ไขปัญหา หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม 

2. การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ผ่านการลงทุนและจัดหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นผู้นำธุรกิจอาหารสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และ 3. การขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เริ่มจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน และอินโดนีเซีย เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสัตว์เศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคเอเชีย  โดยที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปลงทุนธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียแล้วประมาณ 560 ล้านบาท และเข้าไปลงทุนในประเทศปากีสถานแล้วกว่า 30 ล้านบาท

LastUpdate 21/08/2564 17:12:56 โดย : Admin
06-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 6, 2024, 10:24 pm