การค้า-อุตสาหกรรม
ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจอาเซียนถกฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 พร้อมนำอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนไทยร่วมหารือทางไกลเวทีคณะทำงานระดับสูงด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ครั้งที่ 40 เผย ที่ประชุมให้ความสำคัญการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิด-19 ชี้! เตรียมยกระดับอาเซียนสู่ความเป็นดิจิทัล ขณะที่ไทยเน้นย้ำการบังคับใช้ความตกลง RCEP ตามแผน เพื่อขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เตรียมชงรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณากันยายนนี้

 
 
 
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้รับมอบหมายจากนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 40 ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความร่วมมือของประเทศสมาชิกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาค การทบทวนการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 การจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 การจัดทำยุทธศาสตร์ของอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) และประเด็นที่อาเซียนจะผลักดันในปี 2565 ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชา ก่อนเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ที่จะมีการประชุมในเดือนกันยายนนี้

นายดวงอาทิตย์ เพิ่มเติมว่า ไฮไลท์สำคัญของการประชุม คือ การได้ข้อสรุปแผนยุทธศาสตร์อาเซียนในการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) ตามข้อเสนอของไทยในคราวทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนปี 2562 ซึ่งแผนดังกล่าวเน้นการพัฒนาและยกระดับอาเซียนไปสู่ความเป็นดิจิทัล โดยที่ประชุมจะเสนอแผนดังกล่าวให้ผู้นำอาเซียนเห็นชอบในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการใช้ดิจิทัล การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น MSMEs และการฟื้นฟูการท่องเที่ยว
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ประเมินผลการดำเนินงานของคณะทำงานในสาขาต่างๆ ตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งดำเนินการมาได้ครึ่งทาง พบว่ามีความก้าวหน้าแต่จะต้องปรับปรุงการทำงานในระยะต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีการหารือเพื่อเตรียมจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 ด้วย ขณะที่ไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของการบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตามที่ตกลงกันไว้ คือวันที่ 1 มกราคม 2565 เพื่อเร่งขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

ทั้งนี้ กัมพูชาซึ่งจะทำหน้าที่ประธานอาเซียนปี 2565 ได้แจ้งให้ทราบอย่างไม่เป็นทางการถึงประเด็นที่จะให้ความสำคัญในปีหน้า เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิด-19 การสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี และการลดช่องว่างในการพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถด้านการแข่งขันของกลุ่มประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2564 จะขยายตัว 4% ในขณะที่ปี 2565 จะขยายตัว 5.2% สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 54,765.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 15.26% โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 31,652.03 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 23,113.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ส.ค. 2564 เวลา : 18:50:07
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 5:12 pm