การตลาด
สกู๊ป ''ค้าปลีก'' รับลูก ''มาตรการผ่อนคลาย'' ชู 7 แนวทางปฏิบัติเข้มข้น พยุงธุรกิจอยู่รอด


แม้ว่าผลการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิค-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา จะมีผลสรุปว่ายังคงมาตรการเข้มแบบเดิมไว้หลายข้อด้วยกัน  แต่ก็มีบางกิจการกิจกรรมที่ได้รับผ่อนคลาย  เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้  โดยมาตรการที่ยังคุมเข้มเหมือนเดิมคือ พื้นที่ควบคุมสูงและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร  กาญจนบุรี  ชลบุรี  ฉะเชิงเทรา ตาก  นครปฐม  นครนายก นครราชสีมา  นราธิวาส นนทบุรี  ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์  ปราจีนบุรี  อยุธยา  เพชรบุรี  ปัตตานี  เพชรบูรณ์  ยะลา ระยอง  ราชบุรี  ลพบุรี  สงขลา  สิงห์บุรี  สมุทรปราการ  สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร  สระบุรี  สุรรณบุรี และอ่างทอง

นอกจากนี้ ยังคงขอความร่วมมือหลักเลี่ยงการเดินทาง ห้ามออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. เหมือนเดิม  รวมไปถึงห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 25 คน  และทุกระดับพื้นที่ต้องมีมาตรการป้องกันโรคขั้นสูงสุด Universal Prevention ซึ่งประกอบด้วย 10 ข้อปฏิบัติ คือ
 
1.ออกจากบ้านเมื่อจําเป็นเท่านั้น
 
2.เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่
 
3.สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน
 
4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอจาม หรือสัมผัสวัตถุ/สิ่งของ ที่ใช้ร่วมกัน 
 
5.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จําเป็น
 
6.ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จําเป็น(น้อยครั้งและใช้เวลาสั้นที่สุด)
 
7.ทําความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ
 
8.แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
 
9.เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุกสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสํารับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
 
และ 10. หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วย ATK บ่อย ๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
 
 
สำหรับกิจการกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายในรอบนี้ ประกอบด้วย การอนุญาติให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้แบบมีเงื่อนไข  การเปิดให้บริการของร้านอาหาร และการเปิดให้บริการสำหรับกิจการในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์แบบมีเงื่อนไข  ซึ่งประกอบด้วย  ร้านอาหาร  สามารถเปิดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการร้านอาหารมีเครื่องปรับอากาศ  ร้านเสริมสวย  ให้บริการเฉพาะตัดผมหรือแต่งผมเท่านั้นระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง  ร้านนวด  เปิดได้เฉพาะนวดเท้า  และคลินิกเสริมความงาม ให้เปิดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป
 
จากมาตรการผ่อนคลายที่กำลังจะเกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยออกมารับลูกมาตรการดังกล่าวทันที ด้วยการประกาศเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างเข้มข้น เพื่อให้ลูกค้าและพนักงานได้รับความปลอดภัยสูงสุด
 
 
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า  หลังจากคณะกรรมการกลุ่มการค้าปลีกและบริการ  และหอการค้าไทยได้มีการหารือร่วมกัน  เพื่อยกมาตรการขั้นสูงสุดให้ธุรกิจสามารถกลับมาเปิดได้  ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปก็ได้มีการนำมาตรการต่างๆ ไปหารือกับภาครัฐ เพื่อขอมาตรการผ่อนคลาย  เนื่องจากมีหลายธุรกิจได้รับลกระทบจากมาตรการคุมเข้มของภาครัฐ  
 
สำหรับเงื่อนไขและเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างเข้มข้นที่ห้างค้าปลีก และบรรดาร้านค้าภายในห้างค้าปลีกจะยึดปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 นี้เป็นต้นไป  เพื่อให้การเปิดเมืองเป็นอย่างปลอดภัย มีดังนี้
 
1. คัดกรองพนักงานโดย Platform Thai Safe Thai (TST) ทุกวัน หากพบว่ามีอุณหภูมิเกินกว่าที่กำหนดและมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อให้ตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) ทันที
 
2. ให้ร้านค้าประเมินตนเองตามหลักเกณฑ์ของ Thai Stop Covid+ (TSC+) ทุกเดือน และติดใบรับรอง Certificate ในบริเวณที่เจ้าหน้าที่และผู้รับบริการสามารถแสกน QR Code เพื่อตรวจสอบได้
 
3. ผู้เข้ามาใช้บริการปฏิบัติตาม D-M-H-T-T พร้อมคัดกรองตัวเองผ่าน TST และแสดงให้ผู้รับบริการก่อนเข้าสถานประกอบการ
 
4. ควบคุมจำนวนพนักงานและลูกค้า 1 คน ต่อ 5 ตารางเมตร ในสถานประกอบการ (กรมอนามัยใช้หลักเกณฑ์ 1 ต่อ 4 ตารางเมตร)
 
5. กำหนดให้มีการจองการเข้ารับบริการผ่านทาง Application หรือ โทรศัพท์ หรือรับบัตรคิวล่วงหน้า ในทุกธุรกิจของการบริการ
 
6. เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบริเวณจุดสัมผัสสูง High Touch Area อย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง (กรมอนามัยใช้หลักเกณฑ์ทุกๆ 2 ชั่วโมง) 
 
และ 7. ตรวจวัดค่าปริมาณคลอรีนในน้ำคงเหลือไม่ต่ำกว่า 0.5 ppm ในช่วงก่อนเปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และร้านค้าต่างๆ
 
นายญนน์ กล่าวต่อว่า  ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีเครือข่าย ยินดีที่จะสนับสนุนรัฐบาลและขานรับมาตรการต่างๆ ของศบค. และพร้อมที่จะยกระดับการปฏิบัติการเข้มข้นขั้นสูงสุด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
 
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคธุรกิจค้าปลีกจะเริ่มกลับมาเปิดบริการต่างๆ ในบางส่วนได้อีกครั้ง  แต่เนื่องจากยังกลับมาเปิดไม่เต็ม 100% ทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกยังคงชะลอตัว ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการห้างค้าปลีกยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของต้นทุนธุรกิจ และราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น หากต้นทุนมีการปรับเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งหากราคาสินค้ามีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในช่วงเวลาที่เหลือนี้  อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังปานกลางลงมาจนถึงกลุ่มฐานรากหญ้า  ซึ่งหากเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของห้างค้าปลีกประมาณ 23,600-23,800 ล้านบาท
 
 
นอกจากนี้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีการคาดการณ์เพิ่มอีกว่า  เซ็กเม้นต์ของธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ จะเป็นในกลุ่มของดีพาร์ทเม้นท์สโตร์  โดยในสิ้นปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวติดลบที่ 7.4%  ตามด้วยคอนวีเนียนสโตร์ติดลบที่ 5.1%  และไฮเปอร์มาร์เก็ตติดลบที่ 1.2% ส่วนเซ็กเม้นต์ที่คาดว่าจะยังเติบโตได้ 1.2% ในสิ้นปีนี้ คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต  ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในสิ้นปีนี้คาดว่าจะติดลบที่ 2% ลดลงจากปี 2563 ที่ติดลบไป 2.6% 
 

LastUpdate 28/08/2564 15:26:36 โดย : Admin
06-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 6, 2024, 10:21 pm