การตลาด
สกู๊ป ''ธุรกิจร้านอาหาร'' เร่งปรับแผนเชิงรุก หันลุย ''ฟู้ดทรัค-ขยายครัวกลาง'' เสริมทัพเดลิเวอรี่


ในช่วงที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยยังคงมีการล็อคดาวน์ และมีข้อจำกัดในด้านของการจำหน่ายอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารหลายรายต่างออกมาปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ  เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้  เห็นได้ชัดก็ช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ที่ธุรกิจร้านอาหารภายในห้างค้าปลีกในพื้นที่สีแดงเข้มต้องปิดให้บริการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกมาหาเช่าสถานที่ เพื่อสร้างครัวกลางในการประกอบอาหาร ให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ในรูปแบบของบริการเดลิเวอรี่

นอกจากนี้  บางรายยังมีการปรับรูปแบบการให้บริการในรูปแบบของรถเคลื่อนที่ หรือฟู้ดทรัค เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น  เนื่องจากการทำตลาดในรูปแบบดังกล่าวสามารถเคื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ ซึ่งรายล่าสุดที่ได้ออกมาทำการตลาดในรูปแบบดังกล่าว คือ โออิชิ หลังจากมองเห็นโอกาสในช่องทางดังกล่าว
 
 
นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจร้านอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และการออกมาตรการป้องกันที่เข้มข้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบมากพอสมควร  โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีสาขาอยู่ในห้างค้าปลีก เนื่องจากไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ
 
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ โออิชิ  ต้องปรับกลยุทธ์ในการทำการตลาดอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการของร้านอาหารในเครือโออิชิได้  แม้ว่าที่ผ่านมา โออิชิ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางการขายแบบซื้อกลับบ้าน (Take Home) และจัดส่ง (Delivery) มากขึ้น แต่เพื่อให้สินค้าและบริการในธุรกิจร้านอาหารสามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ล่าสุด โออิชิ  ได้มีการขยายธุรกิจไปสู่ร้านอาหารประเภทฟู้ด ทรัค หรือรถจำหน่ายอาหารแบบเคลื่อนที่ ภายใต้ชื่อ “โออิชิ ฟู้ด ทรัค” ด้วยการนำเมนูอาหาร จากแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ มาให้บริการทั้งแบบซื้อกลับบ้านและจัดส่งหรือเดลิเวอรี่ 
 
 
นอกจากนี้  ยังชูจุดขายในด้านของคุณภาพอาหารที่สดใหม่ และราคาย่อมเยาว์  รวมไปถึงเมนูอาหารที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเมนูกลุ่มเบนโตะ กลุ่มดงบุริ ข้าวหน้าญี่ปุ่น  หรือข้าวกล่องญี่ปุ่น เช่น  ยากิโทริ เทอริยากิ เบนโตะ เซต, บูตะ สตะมินะ เบนโตะ เซต, แซลมอน เบนโตะ เซต , ข้าวหน้าหมูเกาหลี, ข้าวหน้าไก่ย่างซีอิ๊ว, และข้าวหน้าปลากซาบะ รวมไปจนถึงเมนูกลุ่มอาหารว่างและของทานเล่นอย่าง เกี๊ยวซ่าทอด  ในราคาเริ่มต้นที่ 69 บาท
 
นายไพศาล กล่าวว่า การออกมาทำการตลาดในรูปแบบดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการทำตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมไปถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการพบว่าลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี  เพราะโมเดลดังกล่าวไม่ใช่แค่การสร้างสีสันในการทำตลาดเท่านั้น แต่ถือเป็นกลยุทธ์หลักในการขยายสาขาและการขยายพื้นที่ให้บริการ ในช่วงเวลาที่ร้านอาหารญี่ปุ่นของบริษัทไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ 
 
สำหรับจุดจอดประจำเบื้องต้นจะเน้นไปที่สถานีบริการน้ำมัน  เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีผู้คนสัญจรไปมาจำนวนมาก  โดยจะเน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก  เช่น  ปตท. ปัญญาอินทรา เขตคันนายาว, ปตท. เอนเนอร์ยี่ พาร์ค เขตตลิ่งชัน, ปตท. แยกหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ปตท. คลองหลวง คลอง 1 จ.ปทุมธานี, ปตท. แพรกษา จ.สมุทรปราการ และจุดพักรถ พอร์โต โก บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
 
 
ด้านนายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารชื่อดัง กล่าวว่า  หลังจากภาครัฐออกมาตรการล็อกดาวน์ยกระดับคุมเข้มการระบาด  ทำให้ร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราว  โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้บริษัทต้องหันมาปรับกลยุทธ์ด้วยการสร้างครัวกลางหรือคลาวด์คิทเช่นภายในกรุงเทพฯ ให้กับธุรกิจร้านอาหาร  เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น  
 
ทั้งนี้  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงน่าเป็นห่วง และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ทำให้แผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลังของ ZEN  ยังคงต้องปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง โดยการเช่าพื้นที่คลาวด์คิทเช่น เพื่อเป็นครัวกลางเสิร์ฟอาหารนอกศูนย์การค้า 5 แห่ง รองรับกับความต้องการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ให้กับร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN  ร้าน On The Table  และร้าน AKA ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 
 
นอกจากนี้  ยังมีแผนที่จะจัดแคมเปญโปรโมชั่น  เพื่อมอบความคุ้มค่าคุ้มราคาสอดรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น การทำโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 และเมื่อซื้อผ่านแอปพลิชัน ‘Zen Group Sookciety’ ก็มีโปรโมชั่นให้เลือกหลากหลาย  และบริการจัดส่งฟรี  เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค  
 
นายบุญยง กล่าวอีกว่า  แผนการดำเนินงานดังกล่าวถือเป็นการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับสถานการณ์  เพื่อผลักดันให้ผลดำเนินไตรมาส 4 กลับมาเติบโตตรงตามเป้าหมายที่วางไว้  หลังจากครึ่งปีแรกสามารถผลักดันให้มียอดขายเติบโตได้ที่ 14% แม้ยอดขายดังกล่าวจะมีผลขาดทุนสุทธิ 39 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นการขาดทุนที่ลดลงประมาณ 87 ล้านบาท    
 
 
ปัจจัยที่ทำให้ ZEN ยังสามารถสร้างยอดขายให้เติบโตได้ปัจจัยหลักน่าจะมาจากการให้บริการในรูปแบบเดลิเวอรี่ นับตั้งแต่มาตรการล็อกดาวน์  เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใช้บริการในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงปกติ โดยแบรนด์ที่มียอดการสั่งซื้อเติบโตอย่างชัดเจน คือ เขียง ร้านอาหารไทยสตรีทฟู้ด และ ZEN Restaurant  
 
ปัจจุบัน ZEN มีธุรกิจร้านอาหารในเครือทั้งหมด แบรนด์ร้านอาหารของบริษัทมี 13 แบรนด์  ประกอบด้วย ZEN, Musha by ZEN, Sushi Cyu Carnival Yakiniku, AKA, Tetsu, On the Table Tokyo cafe', ตำมั่ว , ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, เฝอ, ข้าวมันไก่คุณย่า, de Tummour และ เขียง เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ และร้านอาหารไทย 7 แบรนด์ มีสาขารวม 242 สาขาทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว และกัมพูชา) แบ่งสัดส่วนรายได้เป็นร้านอาหารญี่ปุ่น 80% และร้านอาหารไทย 20%

LastUpdate 28/08/2564 14:57:57 โดย : Admin
06-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 6, 2024, 10:29 pm