ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ยังคงมีอัตราผู้ป่วยสูง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์และพลาสติก และ บริษัท จีซี มาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่นส์ จำกัด (GCM) ร่วมกับลูกค้าและคู่ค้าผู้ประกอบการพลาสติก 84 บริษัท จึงมุ่งมั่นดำเนินการด้านสาธารณประโยชน์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งที่ผ่านมา เครื่องช่วยหายใจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาสูง และขาดแคลน เนื่องจากหลายโรงพยาบาลมีความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) กล่าวว่า โครงการ “Greater Care Charity by GC & Customers” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง GC ผู้นำด้านนวัตกรรมเคมีภัณฑ์และพลาสติก GCM ผู้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ และลูกค้าคู่ค้าผู้ประกอบการพลาสติก 84 บริษัท ในการนำความชำนาญของตน มาช่วยเหลือผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด 19 นี้ไปด้วยกัน โดยในระยะแรก โครงการได้ส่งมอบนวัตกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบครบวงจรให้แก่โรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ และระยอง ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับระยะที่ 2 นี้ GC GCM และลูกค้าและคู่ค้าผู้ประกอบการพลาสติก ได้สนับสนุนเงินทุนให้สภากาชาดไทย ในการจัดทำเครื่องบำบัดโรคทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง (Chula HFNC) เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศที่กำลังรับมือกับผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย GC GCM พร้อมด้วยลูกค้าและคู่ค้าผู้ประกอบการพลาสติกทั้ง 84 บริษัท จะยังคงมุ่งมั่นร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีอันก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ ตลอดจนคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป
นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนของกลุ่มคู่ค้าผู้ประกอบการพลาสติก กล่าวว่า โครงการ Greater Care Charity by GC & Customers เป็นโครงการที่ดีที่ GC GCM ลูกค้าและคู่ค้าผู้ประกอบการพลาสติก เข้ามาร่วมมือกันเพื่อทำสาธารณประโยชน์เป็นโครงการที่ 2 โดยในครั้งนี้เป็นการมอบเงินสนับสนุน เพื่อนำไปผลิตเครื่องบำบัดโรคทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง (Chula HFNC) และนำไปส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนเครื่องมือนี้ต่อไป นับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมโดยคนไทย เพื่อช่วยบรรเทาโรคร้ายนี้และต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ของเราให้ยังได้มีชีวิตอยู่กับคนที่รักและครอบครัวต่อไป
นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะผู้รับมอบเงินสนับสนุนเพื่อนำไปผลิตเครื่องบำบัดโรคทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง (Chula HFNC) กล่าว ขอบคุณทุกพลังแห่งความร่วมมือจาก GC GCM และทุกท่านที่ได้ร่วมสนับสนุนภายใต้เจตนาเดียวกันคือการช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้คลี่คลายไปได้โดยเร็ว จากสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ยังคงมีผู้ป่วยอีกมากที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล และโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการรักษา โดยเงินทุนที่ทุกท่านได้สนับสนุนในวันนี้ จะถูกนำไปใช้ในการผลิตเครื่อง Chula HFNC เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในประเทศไทยต่อไป
เครื่องบำบัดโรคทางเดินหายใจอัตราการไหลสูง (Chula HFNC) เป็นการพัฒนาและผลิตร่วมกันระหว่าง สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่พัฒนาและผลิตโดยคนไทยที่มีคุณภาพสูง และ ราคาที่เหมาะสม ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 3-4 เท่า สามารถกระจายและส่งมอบให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อวิกฤตโควิด 19 ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เครื่อง Chula HFNC ได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าและการแผ่คลื่นสนามแม่เหล็กรบกวนเครื่องมืออื่น จากสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการผลิตนี้ได้มีการแจ้งให้กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ และสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับทราบ ตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์มาตรา 27(1) แล้ว
#สภากาชาดไทย #MDCU #GC #GreaterCareByGC #GCM
ข่าวเด่น