กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยยอดส่งออกสินค้าเกษตรไป 18 ประเทศคู่เจรจา FTA ช่วง 7 เดือนปี 64 ทะลุ 11,664.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 33% พบตลาดเกาหลีใต้โตแรง ตามด้วยเมียนมา อินเดีย ชิลีและจีน ส่วนสินค้าเด่น เครื่องเทศและสมุนไพร ยาง มันสำปะหลัง ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ลำไย มังคุด ยอดพุ่ง มั่นใจ! แนวโน้มส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจตลาดสำคัญฟื้นตัว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์) ไป 18 ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) พบว่า มีมูลค่ารวม 11,664.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 75.75% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย ขยายตัวถึง 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สำหรับตลาดที่มีการส่งออกขยายตัว ได้แก่ เกาหลีใต้ +268% เมียนมา +91% อินเดีย +85% ชิลี +68% จีน +66% มาเลเซีย +51% ฟิลิปปินส์ +43% ญี่ปุ่น +13% และเปรู +11%
สินค้าเกษตรที่มีการส่งออกขยายตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง +55% ยางพารา +58% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง +3% ไก่แปรรูป +4% เครื่องเทศและสมุนไพร +147% และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง +55% ในส่วนของผลไม้ยอดนิยมของไทยที่ขยายตัวเช่นเดียวกัน อาทิ ทุเรียนสด +65% ลำไยสด +44% มังคุด +22% และมะม่วงสด +52% นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยยังครองแชมป์เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง ปศุสัตว์) อันดับ 1 ในอาเซียน ตามด้วยเวียดนามและอินโดนีเซีย
นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) มีส่วนสำคัญในการสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก เนื่องจากประเทศที่มี FTA กับไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว ทำให้สินค้าไทยได้เปรียบด้านราคาและต้นทุนทางภาษีเมื่อต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น ช่วยให้สินค้าเกษตรมีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรด้วย FTA โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
นางอรมน เสริมว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต พบว่า มีโอกาสสูงที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญเริ่มฟื้นตัวประกอบกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2564 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย ยังคงเป็นเรื่องการควบคุมแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งต้องควบคุมไม่ให้กระทบต่อการผลิตของโรงงานและแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของไทย รวมทั้งการเตรียมมาตรการสำรองในกรณีที่โรงงานการผลิตอาจจำเป็นต้องปิดชั่วคราวควบคู่กับการติดตามสถานการณ์และการบริหารลดความเสี่ยงที่จะกระทบการส่งออกได้
ข่าวเด่น