ธนาคารกสิกรไทย ยังคงลุยต่อโครงการพิเศษช่วยเหลือฝ่าวิกฤติโควิด-19 ที่ดำเนินมาปีกว่าแล้ว เน้นเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยธนาคารฯ ได้ช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล ณ มิถุนายน 2564 จำนวน 338,000 ล้านบาท และให้วงเงินสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีและร้านค้ารายย่อย ตามมาตรการของรัฐและมาตรการพิเศษของธนาคารไปแล้วกว่า 232,000 ล้านบาท พร้อมจับมือพันธมิตรชั้นนำในแต่ละธุรกิจ หวังประคับประคองให้ลูกค้าฝ่าวิกฤติโควิด-19 สู้ต่อไปให้ได้ ล่าสุดจัด “ร่วมด้วย ช่วยเปย์” บน K+ market ด้วยการรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 300 ร้าน พร้อมเพิ่มโอกาสการขายบน K+ market โดยนำมาจำหน่ายให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษเพียง 20 บาทเท่านั้น และเตรียมแจกคะแนนสะสม K Point ให้ลูกค้าไปแลกแทนเงินสด จ่ายบิลค่าสาธารณูปโภคต่างๆ หวังช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของทุกคน
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความกังวลและความเดือดร้อนของสังคมไทยที่มีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนับตั้งแต่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นอกเหนือจากความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ แล้ว ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและธุรกิจ และเป็นองค์กรหนึ่งในสังคม ได้ดำเนินโครงการพิเศษเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ภายใต้ศักยภาพของธนาคารอย่างเต็มที่ มุ่งเน้น 2 ด้านคือ เสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจพร้อมรักษาการจ้างงาน และแบ่งเบาภาระทางการเงิน ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย พักชำระเงินต้น และลดการผ่อนต่องวด จำนวน 338,000 ล้านบาท ณ มิถุนายน 2564 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการให้วงเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและร้านค้ารายย่อย ทั้งตามมาตรการภาครัฐ และมาตรการพิเศษเพิ่มเติมของธนาคาร ตั้งแต่การระบาดของโควิดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน โดยธนาคารให้ความช่วยเหลือไปแล้วเป็นวงเงินกว่า 232,000 ล้านบาท
“โครงการพิเศษต่างๆ ดำเนินการผ่าน 3 กลยุทธ์ เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ธุรกิจสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ตรงกับความต้องการมากที่สุด และใช้ทรัพยากรที่ธนาคารมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่
1. ช่วยธุรกิจให้มีเงินทุนและรักษาการจ้างงาน มุ่งให้ธุรกิจมีเงินทุน เสริมสภาพคล่อง สามารถจ้างพนักงานต่อ และดูแลค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในส่วนอื่น ๆ ได้เอง โดยไม่ต้องหยุดหรือปิดกิจการ ได้แก่ โครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารฯ และเจ้าของธุรกิจ ด้วยการลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเจ้าของธุรกิจให้มีเงินจ่ายค่าจ้างพนักงาน โดยธนาคารและเจ้าของธุรกิจช่วยกันจ่ายคนละ 50% ?เพื่อให้พนักงานมีงานทำและมีรายได้ พร้อมช่วยลดภาระหนี้ต่างๆ โครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” ช่วยธุรกิจขนาดเล็กที่ให้มีเงินทุนในการจ้างพนักงานให้มีรายได้และอยู่รอด ด้วยการสนับสนุนเงินกู้ ดอกเบี้ย 0% ไม่ต้องผ่อน 1 ปี มีเอสเอ็มอีเข้าร่วมกว่า 1,000 บริษัท และช่วยพนักงานได้กว่า 46,000 คน และโครงการล่าสุดช่วยให้ร้านค้าขนาดเล็กเข้าถึงเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่าน โครงการ “เงินกู้สู้ไปด้วยกัน” เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย ดอกเบี้ยต่ำ 3% ไม่ต้องมีหลักประกัน พักชำระเงินต้นนาน 3 เดือน ซึ่งได้รับความสนใจจากร้านค้าขนาดเล็กสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยสามารถช่วยลูกค้าได้กว่า 29,200 ราย วงเงินสินเชื่อ 4,800 ล้านบาท
2. ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้ารายย่อย โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น และเพื่อให้เจ้าของร้านรายเล็กๆ สามารถขายของได้คล่องขึ้น ในขณะที่ลูกค้าทั่วไปได้ใช้สินค้าและบริการต่างๆ ในราคาประหยัด เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบธุรกิจ ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย คือ โครงการ “ร่วมด้วย ช่วยเปย์” ร่วมกับฟู้ด เดลิเวอรีชั้นนำ ได้แก่ Grab และ LINE MAN และใน K+ market โดยธนาคารได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 250 ล้านบาท ทั้งให้เงินสนับสนุนกับร้านค้ารายย่อยกว่า 20,000 ร้าน ร้านละ 3,000 บาท เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้า
3.ใช้ศักยภาพแพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคาร K PLUS, K+ market, รวมถึงช่องทางการสื่อสาร KBank Live เพื่อเพิ่มยอดขาย และพื้นที่การขายให้กับร้านค้าต่างๆ บน K+ market ใน K PLUS และ KBank Live ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อให้สามารถซื้อสินค้าหรือบริการได้อย่างสะดวก โดยการจ่ายเงินผ่าน K PLUS หรือใช้คะแนนสะสม K Point แลกแทนเงินสดได้ เช่น โครงการ “รวมใจช้อปของไทย” เปิดช่องทางให้ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารฯ ที่เป็นเจ้าของสวนผลไม้ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูป ได้ระบายสินค้าผ่านช่องทาง THAILANDPOSTMART.com? และแอปพลิเคชันช้อปปี้? โครงการ “รวมใจเที่ยวไทย” เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ K+ market บน K PLUS ให้ลูกค้าได้ซื้อดีลท่องเที่ยวจากผู้ประกอบการโดยตรง ด้วยส่วนลดสูงสุด 80% ทั้งโรงแรม บริการนวดและสปา รถเช่า
ล่าสุด ธนาคารได้ออกโครงการพิเศษเพิ่มอีก 2 โครงการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของลูกค้า ได้แก่ 1) โครงการ “ร่วมด้วย ช่วยเปย์” บน K+ market โดยธนาคารรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 300 ร้าน พร้อมเพิ่มโอกาสการขายบน K+ market นำมาจำหน่ายให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษเพียง 20 บาทเท่านั้น สามารถชำระเงินได้ทั้งเงินสดในบัญชี K PLUS และใช้คะแนน K Point แลกซื้อแทนเงินสด และ 2) โครงการ “ร่วมด้วย ช่วยแจกพ้อยท์” ให้คะแนนสะสม K Point 1,000 คะแนนฟรี ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่าเงินสด 100 บาท เพื่อให้ลูกค้านำไปแลกแทนเงินสด สำหรับจ่ายบิลสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เติมเงิน หรือแลกซื้อของกินของใช้บน K+ market
“ธนาคารตั้งใจช่วยเหลือสังคมและแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนที่ไม่ใช่แค่เฉพาะในช่วงวิกฤตินี้เท่านั้น แต่รวมไปถึงการฟื้นฟูธุรกิจและการใช้ชีวิตของลูกค้าภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” นายพัชร กล่าวสรุป
สอบถามข้อมูลโครงการช่วยเหลือต่างๆ ของธนาคารกสิกรไทยได้ทาง LINE KBank Live
ข่าวเด่น