ถือเป็นสมรภูมิค้าปลีกที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก สำหรับย่านสยามสแควร์ เพราะนอกจากสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) จะนำที่ดินที่หมดสัญญาเช่ามาพัฒนาโครงการค้าปลีกด้วยตัวเอง อย่าง ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน (Siam Square One : SQ-1) ,ศูนย์การค้าสยามสเคป (SIAMSCAPE ) และอาคารที่สร้างเป็นศูนย์รวมโรงเรียนกวดวิชา ภายใต้ชื่อ “สยามกิตติ์”แล้ว ปัจจุบันยังมีการแบ่งพื้นที่ให้ภาคเอกชนได้เข้ามาลงทุนอีกด้วย
หากย้อนเวลาไปปีแรกที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน ได้ลงเสาเข็มในการก่อสร้างเมื่อปี 2553 สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มีการชูจุดเด่นของศูนย์การค้าแห่งนี้ให้เป็น “Urban Shopping Center” ศูนย์รวมและจุดนัดพบที่ถูกออกแบบเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม ศิลปะ แฟชั่น อาหาร หรือ Flagship Store ของแบรนด์ดัง ด้วยจุดเด่นดังกล่าวทำให้สยามสแควร์วันมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลาย และเป็นสถานที่พบปะพูดคุยของวัยรุ่นและวัยทำงาน ภายหลังจากเปิดให้บริการในปี 2557
จากความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าว ทำให้สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มองเห็นโอกาสในการต่อยอดรายได้ในธุรกิจค้าปลีก จึงได้มีการผุดโครงการสยามสเคป ขึ้นมาอีก 1 โครงการในปี 2562 ภายใต้งบลงทุน 1,800 ล้านบาท (เป็นงบลงทุนระยะเวลา 2 ปี แบ่งใช้ปีละ 900 ล้านบาท) โดยในส่วนของที่ดินที่เลือกนำมาพัฒนา คือ อาคารโบนันซ่าเดิม จุดเด่นของโครงการนี้ จะเป็นรูปแบบ Mixed-use ประกอบไปด้วย ศูนย์รวมการเรียนรู้ (Learning Space) ด้วยการดึงสถาบันติวมาอยู่ที่นี่ และมีศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning),อาคารสำนักงานสมัยใหม่ และพื้นที่ค้าปลีกภายใต้คอนเซ็ปต์ “LIFE & LEARNING EXPERIENCES”
นอกจากนี้ โครงการสยามสเคป ยังถูกออกแบบให้เป็น “Parking Node” ของสยามสแควร์ ด้วยอาคารที่จอดรถติดถนนพญาไท ที่สามารถรองรับรถได้กว่า 700 คัน เพื่อสอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาสยามสแควร์ ให้เป็น “ถนนคนเดิน” หรือ Walking & Shopping Street อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเดิมทีโครงการนี้จะเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2563 แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการออกไป
อย่างไรก็ดี นอกจากจะพัฒนาโครงการด้วยตัวเองแล้ว สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ยังได้มีการแบ่งที่ดินที่หมดสัญญาเช่าจากผู้เช่ารายเดิมให้เอกชนได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดยเอกชนรายแรกที่เข้าไปพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในย่านสยามสแคร์ คือ บริษัท ทิพย์พัฒนอาเขต จำกัด เป็นบริษัทในเครือทีซีซีของเจ้าสัวเจริญ หรือ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยโครงการที่พัฒนาจะเป็นศูนย์การค้าในรูปแบบไลฟ์สไตล์ มอลล์ ภายใต้ชื่อ เซ็นเตอร์พ้อย ออฟ สยามสแควร์ (Center Point of Siam Square) จุดเด่นของโครงการแห่งนี้ คือ การเป็นศูนย์การค้าด้านแฟชั่นและความงาม
จากจำนวนสัญญาเช่าพื้นที่ที่ทยอยหมดลง ทำให้ปัจจุบันสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มีการแบ่งพื้นที่เช่าให้กับเอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่ง 2 รายล่าสุดที่มีรายชื่อออกมาเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น และกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ทำให้สมรภูมิการแข่งขันพื้นที่ค้าปลีกในย่านสยามสแควร์มีความคุกรุ่นมากขึ้น
สำหรับที่ดินที่ ซีพีเอ็น ได้สิทธิ์ในการพัฒนาจากสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ คือ บริเวณ Block A หรือพื้นที่ของโรงหนังสกาลาเดิม ที่ดินในส่วนนี้มีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ 31 ตารางวา มีระยะเวลาในการเช่าจำนวน 30 ปี คิดเป็นเม็ดเงินในการเช่าที่ดินมากกว่า 5,900 ล้านบาท โดยรูปแบบของห้างค้าปลีกที่ซีพีเอ็นจะนำมาพัฒนาบนที่ดินย่านสยามสแควร์แห่งนี้ จะเป็น คอมมูนิตี้มอลล์ เนื่องจากที่ดินมีขนาดเล็ก ประกอบกับ ซีพีเอ็น เพิ่งใช้เงินก้อนโตในการซื้อกิจการจากบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือเอสเอฟ ซึ่งมีความแข็งแกร่งในด้านการทำคอมมูนิตี้มอลล์ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ ซีพีเอ็น จะนำโนฮาวจาก เอสเอฟ มาพัฒนาที่ดินผืนดังกล่าว
รายงานข่าวจาก ซีพีเอ็น ระบุว่า สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ประมาณต้นปี 2565 ซึ่งหลังจากการส่งมอบพื้นที่ ซีพีเอ็นจะดำเนินการพัฒนาโครงการทันที ด้วยการรีโนเวตโครงสร้างเดิมให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กในลักษณะคอมมูนิตี้มอลล์ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปีกว่าๆ จึงจะแล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการ ซีพีเอ็น คาดหวังว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญในการเติมเต็มย่านสยามสแควร์ให้เป็น”ช็อปปิ้งสตรีท”ยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ และชาวต่างชาติ
ในส่วนของคิงเพาเวอร์ แม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกเหมือนกับซีพีเอ็น แต่ก็มีแผนที่จะเข้ามาทำธุรกิจในรูปแบบของการนำสินค้าแบรนด์ชั้นนำเข้ามาจำหน่ายภายในพื้นที่สยามสแควร์ บริเวณร้านฮาร์ดร็อค คาเฟ่ ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น (บริเวณสยามสแควร์ ซอย 7) โดยหลังจากหมดสัญญาเช่าไปเมื่อช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็มีแผนที่จะเอาที่ดินผืนดังกล่าวมาพัฒนาเอง ด้วยการรีโนเวตอาคารดังกล่าวเป็นพื้นที่ค้าปลีกสำหรับเช่า เบื้องต้นมีแบรนด์ชั้นนำหลายกลุ่มที่สนใจที่จะเข้ามาเปิดสโตร์ขนาดใหญ่ เช่น กลุ่ม King Power, ร้าน Fire Tiger Bar & Restaurant และร้าน EBOMB Egg Sandwiches & Fries เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาที่ดินผืนดังกล่าว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 หากไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้เกิดขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ดึงมาพัฒนาและบริหารเอง
การแข่งขันใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ศูนย์การค้าสยามพารากอน และศูนย์การค้าเอ็มบีเค ต้องออกมาประกาศรีโนเวทศูนย์การค้าครั้งใหญ่ เพื่อรับมือการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจสมรภูมิการแข่งขันในย่านสยามว่า จะถึงจุด ”โอเวอร์ซัพพลาย” หรือใหม่ และรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ที่ซีพีเอ็นจะเอามาสู้จะเป็นรูปแบบไหน และจะชูจุดเด่นในด้านใด เพื่อไม่ให้ซ้ำกับผู้เล่นรายเดิม เช่นเดียวกับคิงเพาเวอร์ว่าจะเอาแบรนด์อะไรมาสู้กับศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างสยามพารากอนบ้าง
ข่าวเด่น