การตลาด
Special Report : ''สยามนิรมิต กรุงเทพฯ'' เซ่นพิษโควิด-19 ประกาศ ''ปิดกิจการถาวร'' เหลือแค่สาขา ''ภูเก็ต''


จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ทำให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่มีความสั่นคลอน บางรายปิดกิจการ บางรายขายกิจการ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในระลอก 3 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มไปต่อไม่ไหว เช่นเดียวกับธุรกิจของ”โรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพฯ” ที่ล่าสุดออกมาประกาศ”ปิดกิจการอย่างถาวร” เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีรายได้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ธุรกิจก็ขาดสภาพคล่อง 
 

ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารของโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพฯ ได้มีการประกาศแจ้งกับพนักงานกว่า 200 คนว่า ขอปิดกิจการถาวร และจะจ่ายชดเชยให้กับพนักงานตามกฏหมายแรงงาน เนื่องจากพื้นที่ของโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพฯ จำนวน 24 ไร่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นพื้นที่เช่าจากเอกชนเหลือสัญญาเช่าอีกกว่า 7 ปี  หากรอให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี ทำให้สัญญาที่มีอยู่เหลือเพียง 4 ปี ซึ่งไม่เพียงพอที่จะคืนทุนได้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน จึงทำให้ต้องตัดสินใจปิดกิจการถาวร เพื่อให้ธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 
 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพ ได้มีการประกาศปิดกิจการชั่วคราวไปแล้วตั้งวันที่ 17 มี.ค.2563 ภายหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และไม่เคยได้เปิดให้บริการอีกเลยจนถึงปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลาที่ปิดกิจการชั่วคราว โรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพฯ มีการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานอยู่ที่ 30% พร้อมกับให้พนักงาน Work From Home และล่าสุดทางผู้บริหารจึงตัดสินใจที่จะประกาศปิดกิจการถาวร เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 
 

อย่างไรก็ดี หลังจากปิดกิจการถาวร โรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพฯ จะนำสินทรัพย์บางส่วนของโรงละคร ย้ายไปที่โรงละครสยามนิรมิต ภูเก็ต ซึ่งที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่ดินของโรงละครสยามนิรมิตเอง ตั้งอยู่บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 หรือ ถนนบายพาส ต.รัษฎา อ.เมือง ภูเก็ต มีเนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ ใช้งบลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยขณะนี้โรงละครดังกล่าวอยู่ระหว่างการปิดกิจการชั่วคราว   

ในส่วนของการแสดง โรงละครแห่งนี้ถือเป็นสุดยอดการแสดงระดับโลก ที่วิจิตร สวยงาม ตระการตา และทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม จนทำให้โรงละครสยามนิรมิต มีจุดเด่นใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ได้รับการยกย่องจากผู้ชมทุกชาติทุกภาษาว่าเป็นหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดของโลก 2.ได้รับการบันทึกไว้ใน “Guinness World Records” ว่าเป็นเวทีที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดของโลก 3.เทคนิคพิเศษที่สุดมหัศจรรย์ สมจริง เช่น แม่น้ำบนเวที เทวดาเหาะ ฟ้าผ่า ฝนตก ฯลฯ 4.จำนวนนักแสดงมากกว่า 100 คน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากกว่า 500 ชุด 5.นำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบการแสดงที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก 

สำหรับโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพฯ เป็นธุรกิจที่ดำเนินการโดยบริษัท รัชดานิรมิต จำกัด มีนางพัณณิน กิตติพราภรณ์ เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งนอกจากจะทำธุรกิจโรงละครสยามนิรมิตแล้ว นางพัณณิน ยังเป็นเจ้าของสวนสนุกดรีมเวิล์ด โดยในส่วนของโรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพ ได้เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.2548 เป็นโรงละครขนาดใหญ่ มีจำนวนที่นั่งทั้งหมดประมาณ 2,000 ที่นั่ง และมีห้องอาหารบริการแบบบุฟเฟ่ต์นานาชาติให้บริการภายในอาคาร มีความจุรวม 1,500 ที่นั่ง รองรับที่จอดรถได้ 300 คัน  

จากธุรกิจหลักที่นางพัณณิน บริหารอยู่ ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป้นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงละคร หรือธุรกิจสวนสนุก  จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนางพัณณิน จึงตัดสินใจปิดบางกิจการลง เพื่ออุดเลือดที่กำลังไหลจากพิษการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  
 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR (ผู้ถือหุ้นใหญ่ SF) ก็ได้มีการทิ้งธุรกิจค้าปลีกที่มีอยู่ในมือไปเช่นกัน ด้วยการขายหุ้นสามัญของบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ทั้งหมดที่ถืออยู่จำนวน 647,158,471 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 30.36 ของ SF ให้กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SF ไปเป็นที่เรียบร้อย ภายหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจโรงหนังถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดตลอดที่มีการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน 

สำหรับโครงสร้างเดิมก่อนที่ เมเจอร์ จะตัดสินใจขายหุ้นของบริษัท สยามฟิวเจอร์ฯ ที่มีอยู่ในมือ ประกอบด้วย MAJOR 30.36% Lucky Securities 8.09% นายนพพร วิฑูรชาติ 6.18% นายพงศ์กิจ สุทธพงศ์ 5.76% และนายสุทธิลักษณ์ จิราธิวัฒน์ 4.40% ซึ่งหลังจาก ซีพีเอ็น เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สยามฟิวเจอร์ฯ ก็มีโครงสร้างใหญ่ที่เปลี่ยนไป ดังนี้  CPN ถือในสัดส่วน 31.57%  Lucky Securities 8.09% นายนพพร วิฑูรชาติ 6.18% นายพงศ์กิจ สุทธพงศ์ 5.76% และนายสุทธิลักษณ์ จิราธิวัฒน์ 4.40% 
 

ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์มีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการ 172 สาขา รวม 817 โรง กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมไปถึงในต่างประเทศ ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้แผนการขยายสาขาโรงหนังของเมเจอร์ให้ครบ 1,000 โรงในปี 2563 ต้องชะลอไป เช่นเดียวกับแผนการขยายโรงหนังให้ครบ 1,500 โรงในปี 2565 ก็ต้องขยายเวลาออกไปอีกเช่นกัน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายกิจการที่ไปต่อไม่ไหว แต่หลังจากที่ภาครัฐได้มีการประกาศมาตรการผ่อนคลายออกมาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา น่าจะทำให้ผู้ประกอบการหลายรายน่าจะหายใจสะดวกมาอีกนิด หากไม่มีการแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้ง เชื่อว่าก้าวเข้าสู่เดือน ต.ค.2564 น่าจะมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่น่าจะได้รับการผ่อนคลาย หนึ่งในนั้น น่าจะเป็น ”โรงภาพยนตร์” อย่างแน่นอน

LastUpdate 11/09/2564 18:16:36 โดย : Admin
06-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 6, 2024, 8:43 pm