สุขภาพ
สมาคมโรคไตฯ ตอบข้อสงสัยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคไต


ผู้ป่วยโรคไต ถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 โดยอาจจะมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากโรคนี้จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการได้รับการฉีดวัคซีนโควิด -19  โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม เรายังคงพบเจอคำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยโรคไต โครงการ “คุยเรื่องไต ไขความจริง” โดย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จึงได้รวบรวบข้อสงสัยต่างๆ และเชิญ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม มาให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด -19 ในผู้ป่วยโรคไต ทั้งที่เป็นโรคไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ได้รับการฟอกไต ล้างไตทางช่องท้อง หรือปลูกถ่ายไต   

 
ควรฉีดวัคซีนแบบไหนเชื้อเป็น หรือ เชื้อตาย 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคไตสามารถฉีดวัคซีนโควิด -19 ที่มีอยู่ในประเทศไทยได้ทุกชนิด โดยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดดูการทำงานของไตก่อนหรือหลังการฉีด 

ข้อควรระวังการฉีดวัคซีนโควิด -19 ในผู้ป่วยไตมีอะไรบ้าง 

ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีน ในผู้ป่วยไตบกพร่องนั้นก็เหมือนกับประชาชนทั่วๆ ไป 

การเกิดภาวะแพ้เฉียบพลันจนช็อค หรือ Anaphylactic shock พบน้อยมากเพียง 2 คนต่อล้านคน แม้ว่าผู้ป่วยไตบกพร่องจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่า แต่ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน โควิค-19 สำหรับผู้ป่วยโรคไต ไม่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป เช่น ไม่ควรฉีดในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตรุนแรงหรือมีภาวะเจ็บป่วยที่ไม่สามารควบคุมได้ ทั้งนี้หากไม่มีข้อห้ามดังกล่าวผู้ป่วยไตบกพร่องควรรับวัคซีนป้องกันโควิด 
กรณีกินยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านก่อนฉีดวัคซีน 
ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำตามปกติที่แพทย์สั่ง ไม่ควร load น้ำมากเกินไป ไม่ต้องหยุดยาหรืองดน้ำงดอาหารในวันที่ฉีดวัคซีน 
 
นอกจากนี้ หากเกิดไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังรับวัคซีน ควรกินยาลดไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงยา NSAIDs และงดออกกำลังกายหนักหลังฉีดวัคซีน 1-2 วัน 
 

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไปฟอกเลือด วัคซีนจะได้ผลไหม 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ตอบว่า การฟอกเลือดไม่ได้เป็นการล้างวัคซีนออก ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดอาจมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่า แต่ก็เพียงพอในระดับที่จะป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ โดยจะฉีดในวันฟอกเลือดหรือวันที่ไม่ฟอกเลือดก็ได้ อย่างไรก็ตามหลังฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดไข้ซึ่งแยกได้ยากจากไข้จากการติดเชื้อระหว่างฟอกเลือด ทำให้อาจจะต้องเลื่อนการฟอกเลือดออกไป แม้ว่าการฟอกเลือดจะไม่มีผลต่อการฉีดวัคซีน แต่ก็ควรเลือกฉีดวัคซีนในวันที่ไม่ฟอกไต 

โครงการ “คุยเรื่องไต ไขความจริง” อัพเดทข่าวสาร สาระและความรู้เกี่ยวกับโรคไต โดยทีมแพทย์ เภสัชกร และนักกำหนดอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ที่ผลัดเปลี่ยนกันมามอบสาระความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคไต  
 

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ผ่านทางทางเพจ Facebook สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย - The Nephrology Society of Thailand #คุยเรื่องไตไขความจริง #สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ย. 2564 เวลา : 12:20:23
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 2:41 pm