การตลาด
Special Report : ''ร้านอาหาร'' เปิดศึก ''Ready To Cook'' หวังชิงเค้ก 2,000 ล้าน ต่อยอดรายได้ให้ธุรกิจ


จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดอาหารพร้อมทาน มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้บริโภคมีความสะดวก จึงทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดอาหารพร้อมทานมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปีนี้ที่มีการคาดการณ์กันว่า ภาพรวมตลาดอาหารพร้อมทานน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 23,686 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 21,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 19,441 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 17,566 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 16,086 ล้านบาท  
 

แนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ว่า ภาพรวมตลาดอาหารพร้อมทานแช่เย็นและแช่แข็งในประเทศไทยช่วงปี 2564-2566 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 12-14% เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในด้าน
 
1. การขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีสาขาจำนวนมากและกระจายไปยังแหล่งชุมชน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายได้ง่าย และสะดวกในการรับประทาน 

2. การขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตของสังคมเมืองที่เร่งรีบและต้องการความสะดวกสบาย 

3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายเมนู และหลากหลายสัญชาติ เช่น อาหารจีน อาหารญี่ปุ่น และอาหารอิตาเลี่ยน เป็นต้น 

4. คุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารพร้อมทานแบบแห้ง จึงดึงดูดผู้บริโภค 

5. เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านรุ่นใหม่ ที่เอื้อให้การซื้ออาหารแช่เย็น-แช่แข็งมาบริโภคสะดวกขึ้น เช่น ตู้เย็นสมัยใหม่มีช่องแช่แข็งขนาดใหญ่ และไมโครเวฟมีราคาถูกลง 

6.ผู้ประกอบการมีการจัดโปรโมชั่นกันมากขึ้น เพื่อจูงใจผู้บริโภค 

ไม่ใช่แค่เพียงตลาดอาหารพร้อมทานเท่านั้นที่มีอัตราการเติบโต  ในส่วนของตลาดอาหารพร้อมปรุงก็มีอัตราการเติบโตไม่แพ้กัน  เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการร้านอาหารหลายรายหันมาให้ความสนใจเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งการตลาดในส่วนนี้ เช่น ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ที่ออกมาประกาศจับมือร่วมกับ “คิวเฟรช” ร่วมเปิดตัวชุดอาหารพร้อมปรุง (Ready To Cook) “GON กับแก๊งกุ้ง” และ “GON ยกมาทั้งทะเล” บุกช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต ในราคาเริ่มต้นที่ 179 บาท 

น.ส.บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง สำหรับการสานต่อกลยุทธ์ Licensing Partnerships ที่บริษัทได้ทำมาตลอดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดบริษัทได้จับมือกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งในไทย ด้วยการคิดค้นสินค้าใหม่  เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป   

 
สำหรับสินค้าที่บริษัท ฟู้ดแพชชั่น ได้ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนียน ในการผลิตสินค้าเข้ามาทำตลาดในครั้งนี้ คือ การผลิตอาหารพร้อมปรุงชุดสไตล์บาร์บีคิวพลาซ่าอย่าง “GON กับแก๊งกุ้ง” และ “GON ยกมาทั้งทะเล” เข้ามาทำตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่ม เนื่องจากสินค้าดังกล่าวจะมีวางจำหน่ายใน กูร์เมต์ มาร์เก็ต ,โลตัส  และท็อปส์  

รายต่อมาที่ออกมาประกาศแผนเชิงรุกในการรุกทำตลาดอาหารพร้อมปรุง คือ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ด้วยการผลิตพร้อมทาน (ready-to-eat)  เข้ามาทำตลาด โดยการชูจุดขายในด้านของความสะดวกในการทาน และราคาคุ้มค่า เป็นจุดเด่นในการชิงส่วนแบ่งการตลาด 

นอกจากจะหันมารุกตลาดอาหารพร้อมทานอย่างจริงจังแล้ว บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น ยังหันมารุกทำตลาดสินค้าพร้อมปรุง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเพิ่มสินค้ากลุ่มน้ำพริก น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มแจ่ว น้ำปลาร้า เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า หลังจากก่อนหน้านี้ได้เคยทดลองนำสินค้ากลุ่มอาหารพร้อมปรุงเข้าไปทำตลาดในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตบ้างแล้ว  
 

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหาร อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, อากะ, ออน เดอะ เทเบิล  และอาหารตามสั่ง เขียง กล่าวว่า  การออกมาผลิตสินค้าอาหารพร้อมปรุงเข้าทำตลาดในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการรองรับโอกาสการเติบโตของตลาดอาหารพร้อมปรุง ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดอาหารพร้อมปรุง มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ  2,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี แม้ว่า บริษัท เซ็นคอร์ปอเรชั่น จะเจอปัจจัยลบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่หากมาดูที่ผลประกอบการถือว่ายังเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากภาพรวมผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 มีรายได้รวม 1,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134 ล้านบาท หรือ 13.6% เป็นรายได้จากธุรกิจร้านอาหาร เพิ่มขึ้น 8.3% แม้ภาครัฐจะมีคำสั่งปิดห้ามรับประทานอาหารในร้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่หลังจากบริษัท เซ็นคอร์ปอเรชั่น มีการจัดโปรโมชั่น เพื่อเพิ่มยอดขาย  และหันมาขายวัตถุดิบให้กับแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น 24.3% ก็ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ   

ด้าน บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ก็ไม่น้อยหน้า ล่าสุดได้มีการจับมือร่วมกับ “เครือเบทาโกร”  เปิดตัว “ชุดชาบู - ชาบู หมูอนามัย” ด้วยการวางจุดขายให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงที่มาพร้อมรสชาติความอร่อยสไตล์ญี่ปุ่น การใช้วัตถุดิบคุณภาพสดใหม่และสะอาดเป็นจุดเด่นของสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่กำลังมองหาสินค้าและอาหารสดพร้อมปรุง 
 

สำหรับเมนูอาหารพร้อมปรุงที่บริษัท โออิชิ กรุ๊ป นำมาต่อสู้กับผู้แข่งในตลาด คือ “ชุดชาบู - ชาบู หมูอนามัย” ที่มีจุดเด่นในด้านของน้ำซุปน้ำดำ ที่มาพร้อมนารูโตะ มากิ (ลูกชิ้นปลาญี่ปุ่น) เนื้อหมูสไลซ์ทั้งสันนอก สันคอ สามชั้น เต้าหู้ไข่ไก่อนามัย และน้ำจิ้มสุกี้ยากี้ วางขายในราคาชุดละ 299 บาท (สำหรับรับประทาน 1-2 คน) 

ในส่วนของช่องทางจำหน่าย “ชุดชาบู - ชาบู หมูอนามัย” เบื้องต้นบริษัท โออิชิ กรุ๊ป ได้วางจุดจำหน่ายไว้ที่โมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ  ประกอบด้วย Big C (บิ๊กซี), CJ Express (ซีเจ เอ็กซ์เพรส), Dear Tummy (เดียร์ ทัมมี่), Gourmet Market (กูร์เม่ มาร์เก็ต), Lotus’s (โลตัส), Tops (ท็อปส์) และ Villa Market (วิลล่า มาร์เก็ต) รวมกว่า 90 สาขา และในเร็วๆ นี้มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนสาขาให้มากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลัก

LastUpdate 18/09/2564 20:20:17 โดย : Admin
06-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 6, 2024, 8:38 pm