จากมาตรการล็อคดาวน์ที่มีผลบังคับใช้ให้ปิดกิจการกิจกรรมหลายอย่างในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้งหมด 29 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม ส่งผลให้หลายธุรกิจไม่สามารถออกมาทำการตลาด และกิจกรรมส่งเสริมการขายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ เห็นได้จากตัวเลขของเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือน ส.ค. ที่มีอัตราการเติบโตติดลบมากถึง 16%
ทั้งนี้ จากข้อมูลของนีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,721 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่เม็ดเงินโฆษณามีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 7,956 ล้านบาท โดยสื่อที่มีอัตราการเติบโตติดลบมากที่สุด คือ สื่อโรงหนัง ติดลบที่ 94% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 17 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 308 ล้านบาท ตามด้วยสื่อเคเบิลทีวีและแซทเทลไลท์ทีวี เติบโตติดลบที่ 59% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 65 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 153 ล้านบาท
ขณะที่ สื่อนิตยสาร มีอัตราการเติบโตติดลบที่ 30% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 37 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 53 ล้านบาท,สื่อหนังสือพิมพ์ เติบโตติดลบที่ 29% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 209 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 295 ล้านบาท,สื่อเคลื่อนที่ มีอัตราการเติบโตติดลบที่ 27% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 271 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 372 ล้านบาท,สื่อวิทยุ เติบโตติดลบที่ 11% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 259 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 291 ล้านบาท
สื่อทีวี มีอัตราการเติบโตติดลบที่ 11% ล้านบาท หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4,849 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5,422 ล้านบาท,สื่อนอกอาคาร มีอัตราการเติบโตติดลบที่ 6% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 435 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 462 ล้านบาท,สื่อในอาคาร มีอัตราการเติบโตติดลบที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 45 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 47 ล้านบาท และสื่ออินเตอร์เน็ต มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 353 ล้านบาท ยังไม่มีการเก็บค่าการเปรียบเทียบของปีก่อน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วงเดือน ส.ค.จะทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่หากนำมารวมกับตัวเลขของเดือนอื่นๆ ตลอด 8 เดือนของปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโฆษณายังสามารถมีอัตราการเติบโตเป็นบวกได้ที่ประมาณ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 60,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 58,446 ล้านบาท
สำหรับสื่อที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด คือ สื่อในอาคาร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 9% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 435 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 398 ล้านบาท ตามด้วยสื่อทีวี มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 41,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 38,935 ล้านบาท และสื่อนอกอาคาร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 38,935 ล้านบาท
ส่วนสื่อที่มีอัตราการเติบโตติดลบมากที่สุดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา คือ สื่อเคเบิลทีวีและแซทเทลไลท์ทีวี เติบโตติดลบที่ 38% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 662 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,065 ล้านบาท ตามด้วยสื่อเคลื่อนที่ เติบโตติดลบที่ 23% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 2,440 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,171 ล้านบาท สื่อโรงหนัง เติบโตติดลบที่ 19% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,826 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,249 ล้านบาท
ด้าน สื่อนิตยสาร เติบโตติดลบที่ 17% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 387 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 496 ล้านบาท,สื่อหนังสือพิมพ์ เติบโตติดลบที่ 15% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,672 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,961 ล้านบาท และสื่ออินเตอร์เน็ต มีมูลค่าอยู่ที่ 5,522 ล้านบาท ยังไม่มีการเก็บข้อมูลนำมาเปรียบเทียบกับปีก่อน
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามากที่สุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) มีการใช้เม็ดเงินโฆษณา คิดเป็นมูลค่า 11,953 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% ตามด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 9,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% และกลุ่ม Media & Marketing ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรง มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 9,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% ขณะที่กลุ่มยานยนต์ (Automotive) มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 3,850 ล้านบาท ลดลง 5%
ส่วนของบริษัทที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา 3 อันดับแรก คือ 1. บริษัท บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัด มีการใช้เม็ดเงิน คิดเป็นมูลค่า 3,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 33% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คือ ซันซิล สีชมพู ช่วยจัดทรงง่ายขึ้น 5 เท่า หอมนาน 72 ชม มีการใช้เม็ดเงินทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 33 ล้านบาท รองลงมาคือ ซันซิล ไฮเดรนเยีย&แพร์ ผมหอมนานตลอดวัน มีการใช้เม็ดเงินทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 24 ล้านบาท
อันดับ 2 บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) โฮลดิ้ง จำกัด มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 2,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 20% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา คือ เนสกาแฟ กระป๋องเขียว อร่อยเข้ม เต็มเหนี่ยว มีการใช้เม็ดเงินทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 27 ล้านบาท รองลงมาคือ เอส-26 โกลด์ โปรเกรส มีสฟิงโก ไมอีลิน มีการใช้เม็ดเงินทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 26 ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นของบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 1,565 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 13% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือ เฮดแอนด์โชว์เดอร์ เหนือกว่า 5 เท่า มีการใช้เม็ดเงินทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 32 ล้านบาท รองลงมาคือ รีจอยส์ สีเขียวใหม่ ผมสลวย กลิ่นหอมติดยาวนาน มีการใช้เม็ดเงินทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 28 ล้านบาท
ข่าวเด่น