การตลาด
สกู๊ป ''ผู้ประกอบการ นมพร้อมดื่ม'' เร่งคลอดสินค้าใหม่-ลุยออนไลน์ สู้วิกฤตตลาดรวมติดลบ


ตลาดนมพร้อมดื่ม ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับคนไทยมีความเชื่อที่ว่า ดื่มนมแล้วทำให้อ้วน จึงทำให้การบริโภคนมมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีการดื่มนม 90 ลิตรต่อคนต่อปี สิงคโปร์ มีการดื่มนม 62 ลิตรต่อคนต่อปี และ จีน มีการดื่มนม 38 ลิตรต่อคนต่อปี ขณะที่ประเทศไทย มีการดื่มนม 18 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น 
 

ทั้งนี้ หากนำเอาปริมาณการบริโภคนมของภูมิภาคเอเชีย เทียบกับภูมิภาคยุโรปและอเมริกา  ภูมิภาคเอเชียถือว่ายังมีอัตราเฉลี่ยการดื่มนมที่ต่ำมาก เห็นได้จากอัตราเฉลี่ยการดื่มนมของคนเอเชียที่มีเพียง 66 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้น  ขณะที่ คนยุโรป มีอัตราเฉลี่ยการดื่มนมอยู่ที่ 274 ลิตรต่อคนต่อปี  คนอเมริกาเหนือ มีอัตราการเฉลี่ยดื่มนมอยู่ที่ 237  ลิตรต่อคนต่อปี และคนอเมริกาใต้ มีอัตราเฉลี่ยการดื่มนม 124 ลิตรต่อคนต่อปี 

จากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่ไม่นิยมการดื่มนม ประกอบกับมีปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจรุมเร้า ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดนมพร้อมดื่มในปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตติดลบ โดยเฉพาะตลาดนมพร้อมดื่มยูเอชทีและนมพาสเจอไรซ์พร้อมดื่ม (ไม่รวมนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม) คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตติดลบที่ประมาณ 4% จากปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 32,145 ล้านบาท 

ส่วนภาพรวมตลาดนมพร้อมดื่มในประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดรวมนมพร้อมดื่มยูเอชทีและนมสเตอร์ไลส์ มูลค่า 24,000 ล้านบาท นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ 9,500 ล้านบาท นมพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ 9,100 ล้านบาท  และนมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที 5,200 ล้านบาท  

นายโอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายนมพร้อมดื่ม “โฟร์โมสต์” กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายที่ลดลง ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ที่ภาพรวมตลาดนมติดลบ จากปกติตลาดไม่เคยติดลบเลย ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่  
 

ขณะเดียวกันก็จะมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์หลัก หรือ Hero product ด้วยการขยายไลน์ของ hero product ที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่น กลุ่มนมยูเอชที และนมโฟร์โมสต์โอเมก้า โดยการพัฒนาสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดมากขึ้น  ซึ่งขณะนี้โฟร์โมสต์อยู่ระหว่างการทำมาร์เก็ตติ้งรีเสิร์ช เพื่อสำรวจความต้องการของผู้บริโภค โดยจะเน้นไปที่ความหลากหลายของสินค้า เพื่อเจาะกลุ่มคนทั่วไปและกลุ่มเด็ก  

นอกจากนี้ โฟร์โมสต์ยังจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดในช่องทางร้านค้าทั่วไป หรือโชห่วย  ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 1.2 แสนรายทั่วประเทศ ซึ่งรูปแบบการทำตลาดในช่องทางดังกล่าว จะเน้นไปที่การทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว โดยปัจจุบันโฟร์โมสต์มีหน่วยรถส่งสินค้ากระจายไปทั่วประเทศของตัวเอง แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด แต่โฟร์โมสต์ก็มีเป้าหมายว่าจะเพิ่มรอบในการส่ง เพื่อกระจายสินค้าให้ได้มากที่สุด และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด   

นายโอฬาร กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งช่องทางที่บริษัทจะให้ความสำคัญ คือ การทำตลาดในช่องทางออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้บริษัทต้องมี Official store อยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ รวมถึงมีช่องทางของบริษัทเองอย่าง Foremost Delivery บนเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มโอกาสและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ได้ทุกเวลา ขณะเดียวกันก็ต้องมีการจัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง เพื่อจูงใจลูกค้าและกระตุ้นยอดขายให้มีอัตราการเติบโต   

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโฟร์โมสต์จะออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างหนัก แต่นายโอฬารก็ออกมายอมรับว่า ภาพรวมสิ้นปีนี้ยอดขายอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้เคยวางไว้ แต่หากมาดูที่ส่วนแบ่งการตลาดนมพร้อมดื่ม โฟร์โมสต์ยังคงครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 ที่ประมาณ 50%  

ในส่วนของนมไทย-เดนมาร์ค ล่าสุดได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่งยูเอชทีใหม่ 2 รส คือ รสเผือกและรสมะม่วงมหาชนก เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบการดื่มนมเป็นอาหารว่าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ และเลือกบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น 
 

นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 รสชาติ เข้าทำตลาดในครั้งนี้ ถือเป็นการเดินหน้าต่อยอดธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายผลักดันผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ก้าวสู่ "นมแห่งชาติ “ ภายในปี 2565 เนื่องจากทางองค์การฯ มีเป้าหมายต้องการให้คนไทยได้มีโอกาสดื่มนมที่มีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความสามารถเกษตรกรโคนมไทยให้สามารถประกอบอาชีพโคนมต่อไปได้อย่างมั่นคง 

นอกจากนี้ การออกมาเปิดตัวสินค้าใหม่ดังกล่าว ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการกระตุ้นยอดขายของนมไทย-เดนมาร์คในช่วงปลายปีนี้  เพราะสินค้าใหม่ที่ได้นำมาทำตลาดในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับตลาดนมพร้อมดื่ม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการพัฒนานมพร้อมดื่มรสชาติดังกล่าวเข้ามาทำตลาด 

ส่วนกลุ่มบริษัทดัชมิลล์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ นมเปรี้ยวดัชมิลล์ 4 อิน1 และดัชมิลล์ 0% ก็มีการออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยต้นปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ใหม่ “ ไบร์ท – วิน – นานิ – ดิว” เข้ามาช่วยในการสร้างแบรนด์และเพิ่มยอดขาย ภายใต้แคมเปญ "ดื่มให้พร้อมดื่มนมเปรี้ยวดัชมิลล์" หลังจากนั้นก็มีการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ย. 2564 เวลา : 14:57:28
06-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 6, 2024, 8:43 pm