เอสเอ็มอี
ม.หอการค้าไทย กับบทบาทพี่เลี้ยง SMEs และ Startups ไทย ด้วยหลักสูตร EMBRYO Incubation Program เสริมแกร่งธุรกิจ ก่อนเข้าตลาดทุน


หัวใจสำคัญของการเจริญเติบโต ความมั่นคง ตลอดจนขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดของทุกประเภทธุรกิจคือการมีกำลังทุนในการบริหารจัดการเพื่อการยกระดับทุกองคาพยพให้เกิดสภาพคล่องในการทำงาน สร้างมาตรฐานและมูลค่าให้กับธุรกิจ ซึ่งนั่นเป็นสมรรถนะที่เราเห็นได้ทั่วไปจากธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งโลดแล่นอยู่ในสังเวียนตลาดทุนอย่างน่าจับตามอง ซึ่งนักลงทุนเล็งเห็นถึงศักยภาพที่จะได้รับผลกำไรที่งอกงาม แต่หากสำรวจลึกลงไปถึงกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs และ Startups ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 99.5 ของผู้ประกอบการทั้งหมด และมีบทบาทในการจ้างงานราวร้อยละ 70 นับเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจแต่กลับประสบปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งทุนที่จะช่วยขยายศักยภาพทางธุรกิจได้ กุญแจสำคัญที่จะช่วยเปิดประตูสู่โอกาสของธุรกิจ SMEs และ Startups ให้มีความพร้อมต่อการก้าวสู่ตลาดทุนอย่างเข้มแข็ง และสามารถจูงใจนักลงทุนได้นั้น

นอกจากสินค้า บริการอันเกิดจากไอเดียที่มีอนาคตน่าจับตามองแล้ว คือการมีองค์ความรู้และระบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง ซึ่งยังต้องอาศัยทุนทรัพย์ และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะมีแรงขับเคลื่อนเข้าสู่ตลาดทุน จะด้วยกำลังทรัพย์หรือองค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอ หรือขาดที่ปรึกษาที่พร้อมให้คำแนะนำอย่างผู้เชี่ยวชาญก็ดี จึงเป็นเหตุให้หลาย ๆ SMEs และ Startups ทรงตัวอยู่ในสภาพ “บริษัทเล็ก ๆ” 

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างโอกาสการเติบโตของ SMEs และ Startups ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จึงได้มีแผนพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สาม ในนาม “LiVE Exchange” ซึ่งเป็นตลาดใหม่นอกจาก SET และ mai โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตลาดรองรับการระดมทุนจากสาธารณะเพื่อ SMEs และ Startups โดยเฉพาะ 
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงร่วมกันสร้าง Springboard ให้ SMEs และ Startups สามารถก้าวกระโดดสู่ตลาดทุนได้ง่าย โดยการพัฒนาหลักสูตร EMBRYO Incubation Program สำหรับฝึกอบรมผู้ประกอบการเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนสู่การเติบโตทางธุรกิจ อย่างมีองค์ความรู้ที่สมบูรณ์
 
 
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนึ่งในพันธมิตรของโครงการเล่าถึงความเป็นมาของการเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโครงการหลักสูตร EMBRYO Incubation Program ในฐานะผู้ให้บริการด้านวิชาการ ซึ่งต้องสวมบท “พี่เลี้ยง” ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฝึกอบรมในหลักสูตร EMBRYO Incubation Program ว่า หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความคิดริเริ่มอยากเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สาม (LiVE Exchane) ซึ่งเป็นตลาดทุนเพื่อ SMEs และ Startups ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกับหอการค้าไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เป็นองค์กรเก่าแก่และมีเครือข่ายธุรกิจทั้งในภาคการค้า งานบริการ โดยถือว่าเป็นศูนย์รวมกลุ่มเป้าหมายของโครงการไว้อย่างหนาแน่นที่สุด ดังนั้นเมื่อหอการค้าไทย เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ธุรกิจ SMEs และ Startups ในการผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าสู่ตลาดทุน จึงกลายมาเป็นบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ใต้ชายคาของหอการค้าไทย ที่จะเข้ามาเป็นเทรนเนอร์ในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยทรัพยากรด้านเครื่องมือสนับสนุน บุคลากร คณาจารย์ที่มีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ งานวิจัย และความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการบริหารธุรกิจ ซึ่งโดยทั่วไป การที่ธุรกิจจะเข้าสู่ตลาดทุนได้ สิ่งสำคัญคือเงินทุนในการบริหารจัดการ การจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor : FA) เพื่อให้คำแนะนำการวางแผนระบบการเงิน บัญชี การตรวจสอบเพื่อแสดงความโปร่งใสสู่สายตานักลงทุน ซึ่งถือเป็นต้นทุนการใช้จ่ายที่สูงมาก ในขณะที่ธุรกิจที่ต้องการจะเข้าสู่ตลาด LiVE Exchange อย่าง SMEs และ Startups อาจเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หรือมีขนาดเล็กและเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินงาน การมีองค์กรที่ปรึกษาซึ่งพร้อมให้คำแนะนำเพื่อธุรกิจ การวางแผนนโยบายทางการเงินและบัญชี โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก จึงถือเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์และจะส่งผลให้ธุรกิจ SMEs และ Startups ก้าวกระโดดสู่ตลาดทุนได้ด้วยองค์ความรู้ และระบบการจัดการที่เข้มแข็ง โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญที่จะผลักดัน SMEs และ Startups ของไทยให้เติบโต อยู่รอด ด้วยการเข้ามาเรียนรู้ถึงโอกาส และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ LiVE Exchange 
 
 
ด้าน ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร EMBRYO Incubation Program มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าถึงสิ่งที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากหลักสูตรจะได้รับ ซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยสาระสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ควรรู้ ได้แก่ การประเมินความพร้อมของธุรกิจก่อนเข้าระดมทุนในตลาด LiVE Exchange ทั้งในด้านการเงิน การบัญชี และระบบการตรวจสอบภายในที่โปร่งใส อีกทั้งผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ถึงการสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบสดทางออนไลน์ โดยได้พันธมิตรชั้นนำอาทิ PwC Thailand, Baker McKenzie, APM Asset Pro Management,RS ที่จะมาร่วมกันให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมอบรม โดยเป้าหมายสูงสุดของโครงการหลักสูตร EMBRYO Incubation Program คือการเป็น Springboard สำหรับการก้าวกระโดดของ SMEs และ Startups เข้าสู่แหล่งเงินทุนได้อย่างมีทางลัด รวดเร็ว โดยมีโครงสร้างหลักสูตร ดังนี้ 
 
• Roadmap to Capital Market เปิดประตูสู่เส้นทางในตลาดทุน (LiVE Exchange-> mai-> SET) 
• Readiness Checklist เช็คสถานะความพร้อมของธุรกิจ เพื่อสร้างแผนพัฒนาธุรกิจสู่เป้าหมาย
• Business Model for Growth พัฒนาโมเดลธุรกิจกับวิทยากรชั้นนำ สู่กลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน 
• Financial & Accounting ปรับระบบหลังบ้านให้พร้อมก่อนระดมทุน
• Win Strategy วางกลยุทธ์ธุรกิจสู่การเติบโต พร้อมไปกับการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมอบรมในระหว่างเข้าการอบรมเป็นรายบริษัท
 
โดยสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากความรู้ บริษัทที่เข้ารับการฝึกอบรมสามารถยื่นขอทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อใช้ในการสร้างความพร้อมของบริษัท อาทิ การจัดทำระบบงานที่สำคัญ สูงสุดบริษัทละ 50,000 บาท หลังสำเร็จหลักสูตร 
 
อย่างไรก็ดี หลักสูตร EMBRYO Incubation Program นั้น ได้ริเริ่มและได้รับความสนใจจาก SMEs และ Startups โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 80 บริษัท ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องรอวัดผลสัมฤทธิ์จากการฝึกอบรมต่อไป ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังไม่เป็นที่สิ้นสุดเพียงแค่หนึ่งรุ่นเท่านั้น เนื่องด้วยการเกิดและเติบโตของธุรกิจ SMEs และ Startups นั้นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้ให้บริการด้านวิชาการที่มีความพร้อมในการหยิบยื่นโอกาส ความรู้และพร้อมเป็นโค้ชตลอดเส้นทางสู่ตลาดทุนแก่ผู้ประกอบรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงมีแผนที่เปิดหลักสูตร EMBRYO Incubation Program สำหรับรุ่นต่อไปในอนาคตโดยพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และวิสัยทัศน์ในการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมบริการในอาเซียน โดดเด่นในการสร้างนักธุรกิจและผู้ประกอบการด้านการค้าและอุตสาหกรรมบริการ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศและภูมิภาค พร้อมมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปและขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ต.ค. 2564 เวลา : 11:48:13
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 7:53 am