หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีการประกาศคลายล็อคกิจการ กิจกรรมบางประเภทไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายธุรกิจเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับภาคธุรกิจค้าปลีกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากถูกจำกัดการเปิดให้บริการไปเมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นในช่วงเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดือน ส.ค.2564 ภายหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบเข้มงวด และอนุญาตให้หลายกิจการสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้
จากข้อมูลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือน ก.ย.2564 ซึ่งเป็นการสำรวจเป็นครั้งที่ 8 ของปี 2564 โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพบข้อมูลที่น่าสนใจด้วยกัน ดังนี้
1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือน ก.ย.2564 มีการปรับตัวดีขึ้นกว่า 2 เท่า จากที่ระดับ 25.0 ในเดือน ส.ค.2564 ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 59.0 ภายหลังจากมีการประกาศมาตรการผ่อนคลาย เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากระดับที่ 47.8 ในเดือน ส.ค.2564 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.8 ในเดือน ก.ย.2564 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ในขณะที่ความเชื่อมั่นสภาวะปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 200% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความวิตกกังวลอยู่มากกับมาตรการการผ่อนคลาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจน
2.ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิม หรือ Same Store Sale Growth (SSSG)ในช่วงเดือน ก.ย.2564 มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในทุกภูมิภาค ด้วยการมีค่าเฉลี่ยอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ยกเว้น ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ยังมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ต่อเนื่องมาจากเดือน พ.ค.2564 เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ถูกผลกระทบจากการท่องเที่ยว และการเลื่อนการเดินทางของสายการบินภายในประเทศ
3.ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภทธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง และซ่อมบำรุง (Hard Line) ส่วนร้านค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ ยังคงมีดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการเคอร์ฟิว ส่งผลให้ยอดขายสินค้าในรอบดึก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 35% หายไป นอกจากนี้ จากมาตรการ Work From Home และการปิดสถานศึกษา ก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่ทำให้ลูกค้าของร้านค้าปลีกประเภทดังกล่าวปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ หากนำข้อมูลดังกล่าวมาประเมินผลกระทบต่อยอดขาย กำลังซื้อ และแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากมุมมองผู้ประกอบการ ในช่วงเดือน ก.ย.2564 จะพบว่า 68% ของผู้ประกอบการคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 น่าจะหดตัวถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะเดียวกันอีก 57% ของผู้ประกอบการระบุว่ายอดขายในไตรมาส 3 น่าจะลดลงมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 และอีกประมาณ 73% ของผู้ประกอบการคาดว่า สถานการณ์จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเกณฑ์ ส่วนอีก 26% มองว่าจะเปิดกิจการเป็นบางส่วนหรือปิดชั่วคราว แม้ว่าภาครัฐจะผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ก็ตาม
นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้ 83% มองว่ามาตรการเคอร์ฟิวมีผลต่อยอดขายมาก และ 58% มองว่ากำลังซื้อผู้บริโภคหดหายไม่ฟื้นตัวเร็ว 42% มองว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 33% มองว่ามีบุคคลากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีกมาก 33% มองว่าค่าใช้จ่ายตามประกาศ Covid Free Setting มีการบานปลาย และ 90% ไม่มีความมั่นใจในนโยบายที่ภาครัฐประกาศจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน
จากความไม่มั่นใจในนโนบายที่ยังมีสัดส่วนค่อนข้างสูง ส่งผลให้ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมี 4 ข้อเสนอที่ต้องการเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้
1.ภาครัฐต้องเร่งฟื้นโครงการ “ช้อปดีมีคืน”อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ กระตุ้นมู้ดการจับจ่ายในช่วงไฮซีซั่นให้กลับมาคึกคัก
2.ภาครัฐต้องใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการในด้านค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข นอกเหนือจากการลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าของค่าใช้จ่าย ATK
3.ภาครัฐต้องสร้างความชัดเจนในการนำมาตรการ Covid Free Setting และ Universal Prevention โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถปฎิบัติได้ง่ายและมีขั้นตอนที่ชัดเจน
4.ภาครัฐต้องเร่งการกระจายการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วและเข้าถึงประชาชนมากกว่า 70% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จะเห็นได้ว่ามาตรการผ่อนคลายที่ประกาศออกมา ถือเป็นกุญแจสำคัญที่เรียกความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจให้กลับคืนมา เพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบค้าปลีกและบริการ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเร่งการกระจายการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ เพื่อจะได้เปิดประเทศอย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด
อีกปัจจัยสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 คือ การนำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้อย่างเร่งด่วน เพราะจะเป็นการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากมาตรการผ่อนคลายที่มีการประกาศเพิ่มเติมให้บางธุรกิจสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งนับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกออกมาตอบรับมาตรการทันที ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ขั้นสูงสุดตามประกาศของ ศบค.
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากมาตรการผ่อนคลายให้สามารถเปิดธุรกิจได้เพิ่มเติม ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการคุมเข้มโควิดขั้นสูงสุดอย่างเคร่งครัด ตามประกาศของ ศบค. เช่น ให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ รวมไปถึงโรงภาพยนตร์ เปิดให้บริการจนถึงเวลา 21.00 น. ร้านอาหารในศูนย์การค้าสามารถนั่งบริโภคในร้านได้ โดยร้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศสามารถนั่งได้ 75% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด และร้านที่ติดเครื่องปรับอากาศสามารถนั่งได้ 50% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด โดยสามารถมีการเล่นดนตรีได้ แต่จำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 3 คน นักดนตรีต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และปิดให้บริการ 21.00 น. และขอความร่วมมือลูกค้าที่เข้ารับบริการควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง เป็นต้น
ข่าวเด่น