แบงก์-นอนแบงก์
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนตุลาคม 2564


ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และยอดฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน รวมถึงความต้องการของตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนตุลาคม 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ  มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ และสุกร มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2564  โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่  ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,035 - 10,090 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.45 - 3.01 เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ อาทิ มาตรการเปิดห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่งผลให้มีความต้องการใช้ข้าวหอมมะลิของร้านอาหารเพิ่มขึ้น  น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 19.31 - 19.49 เซนต์/ปอนด์ (13.98 - 14.11 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.70 - 1.60 จากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ซึ่งส่งผลดีต่อราคาเอทานอลและกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลในประเทศบราซิลนำอ้อยไปผลิตเอทานอลและลดการผลิตน้ำตาลลง ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและอุณหภูมิที่สูงขึ้นในประเทศบราซิลส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลง และปัญหาการส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดียที่ยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องคำตัดสินของ WTO ที่อาจจะพิจารณาตัดสินเอาผิดกับประเทศอินเดียในเรื่องนโยบายอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล โดยจะกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดีย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกลดลง  มันสำปะหลัง     ราคาอยู่ที่ 2.13 - 2.18 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.47 – 2.83 เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2564/65 ผลผลิตออกสู่ตลาดยังไม่มาก และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม 2564 ส่วนใหญ่จะถูกส่งเข้าสู่โรงงานผลิต แป้งมันสำปะหลัง  
 
ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.46 - 7.58 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.81 - 5.44 เนื่องจากสต็อกน้ำมันจากพืชทั่วโลกลดลงจากการเกิดคลื่นความร้อนและการระบาดของแมลงศัตรูพืชในประเทศผู้ผลิตสำคัญ ประกอบกับประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับสองของโลกประสบปัญหาข้อจำกัดการเดินทางของกำลังแรงงานต่างชาติจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในการ   เก็บเกี่ยวผลผลิต กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 124.77 – 126.08 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.40 - 2.50 เนื่องจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนตุลาคม 2564 ทำให้ร้านอาหารกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประชาชนจึงมีความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวและการรับประทานอาหารนอกบ้าน  ซึ่งเป็นแรงหนุนให้ความต้องการบริโภคกุ้งเพิ่มขึ้น และคาดว่าการส่งออกกุ้งในเดือนตุลาคมอาจจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ราคาส่งออกกุ้งไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2564 เป็นช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยกดดันราคากุ้งให้ปรับตัวลดลง  และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 95.50 - 96.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 
 
 
ร้อยละ 0.40 – 0.93 จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ที่ขยายให้กิจการสามารถเปิดบริการเพิ่มขึ้น    คาดว่าจะช่วยเพิ่มความต้องการบริโภคเนื้อโค อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนตุลาคมเป็นช่วงเทศกาลถือศีล    กินเจ อาจทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคลดลง และกระทบต่อราคาขายโคเนื้อมีชีวิตของเกษตรกรได้
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,350 - 7,430 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.10 - 1.17 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาข้าว   ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงจากราคาข้าวของประเทศเวียดนามในตลาดโลกที่ปรับลดลง เพราะผลจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทำให้ขาดแคลนแรงงานในกิจกรรมการผลิตข้าว  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,010 - 8,204 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.71 - 3.07 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสะสมที่เพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุโกนเซินที่พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียวที่สำคัญ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเหนียวนาปีเพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.95 - 8.08 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 - 2.20 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่คาดว่าผู้ประกอบการจะนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนมากขึ้นจากสัญญาส่งมอบข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลืองในเดือนธันวาคม 2564 ที่ปรับลดลงร้อยละ 1.04 ร้อยละ 1.13 และร้อยละ 1.67 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการยังแข่งขันด้านราคารับซื้อเพื่อจูงใจให้เกษตรกรลงทะเบียนขายผลผลิตให้กับบริษัทตน จะส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้  ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 48.00 - 48.50 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.06 – 1.19 เนื่องจากปัจจัยหลักจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ส่งผลต่อความต้องการนำเข้ายางพาราจากไทยลดลง ถึงแม้ว่าราคายางพาราไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และปริมาณยางพาราออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับทางตอนใต้ของประเทศไทยยังมีฝนตกชุกและขาดแคลนแรงงานกรีดยางก็ตาม   และสุกร ราคาอยู่ที่ 64.73 - 66.11บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน   ร้อยละ 1.37 - 3.43 เนื่องจากการเข้าสู่เทศกาลกินเจที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 14 ตุลาคม 2564 ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งงดบริโภคเนื้อสัตว์ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง.       
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ต.ค. 2564 เวลา : 19:04:40
25-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 25, 2025, 8:25 am