นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่าในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้คนต่างชาติรวม 29 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 559 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 742 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็น องค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานและกระบวนการทำงานทางเทคนิคของหน่วยกำจัดกำมะถันออกจากน้ำมันดีเซลโดยไฮโดรเจน องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการกลั่นน้ำ หรือก๊าซ หรือน้ำมัน เพื่อเปลี่ยนน้ำเสีย หรือก๊าซ หรือน้ำมันดิบให้เป็นน้ำ หรือพลังงานสะอาด (The unique innovation and technology of Carrier Gas Attraction) และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้งานโปรแกรมเชื่อมต่อระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล และโปรแกรมรวบรวมสถิติในห้องปฏิบัติการเพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์การทำงาน เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตในเดือนกันยายน 2564 ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 13 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์มีเงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 114 ล้านบาท อาทิ
- บริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์ แก่โรงพยาบาล สถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์
- บริการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อการโฆษณา
- บริการจองบัตรโดยสารรถโดยสารประจำทาง รถเช่า เรือโดยสารและสายการบิน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
2. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ จำนวน 9 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น มีเงินลงทุนจำนวน 119 ล้านบาท อาทิ
- การทำกิจการบริการทางบัญชีและกฎหมายแก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม
- บริการสำรวจและวิเคราะห์ตลาด รวมทั้งประสานงานด้านการสั่งซื้อและส่งมอบสินค้า
- บริการติดต่อ ประสานงานเพื่อการจำหน่ายสินค้าและการจัดส่งสินค้าที่ชำรุด (claim) แก่ผู้ซื้อ ในต่างประเทศ และบริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในงานออกแบบสินค้า และซอฟต์แวร์ เป็นต้น
3. ธุรกิจนายหน้า/ค้าส่งสินค้า จำนวน 4 ราย ซึ่งเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอิตาลี มีเงินลงทุนจำนวน 156 ล้านบาท ได้แก่
- การทำกิจการตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องจักรบรรจุสินค้า (Packaging Machinery) และ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับระบบบรรจุสินค้า ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ
- การค้าส่งสินค้าประเภทโพลิออลและเมทิลีนไดฟีนิลไดไอโซไซยาเนต สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบของสารโพลียูรีเทนให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
- การค้าส่งสิ่งปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติสำหรับอาหารที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
4. ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเยอรมัน มีเงินลงทุนจำนวน 170 ล้านบาท ได้แก่
- บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งก่อสร้าง ประกอบ ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของระบบ และบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel (UCF) Diesel EURO V)
- บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ และการให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิค รวมทั้งให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการบริการระบบบำบัดน้ำเสียแบบครบวงจร
- บริการควบคุมการติดตั้ง ทดสอบการทำงานและควบคุมการเดินเครื่องของเครื่องจักรที่ใช้สำหรับปั่นเส้นใย (PET Staple Fiber Spinning Lines) และเครื่องจักรที่ใช้สำหรับดึงเส้นใย (PET Staple Fiber Drawing Lines) ในสายการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ รวมถึงการซ่อมแซมเครื่องจักรดังกล่าวในช่วงรับประกันผลงาน
สำหรับเดือนกันยายน 2564 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป รองลงมาเป็นธุรกิจการให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม ธุรกิจนายหน้า/ค้าส่งสินค้า และธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการประกอบธุรกิจเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก จำนวน 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 69 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดของเดือนนี้
รมช.พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2564 รวม 9 เดือน มีนักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาตให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 161 ราย รวมเงินลงทุน 9,943 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ
- ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย
- ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการ ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ
- ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย
- บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) ให้แก่บริษัท ในเครือในต่างประเทศ
- บริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ชาวต่างชาติจะยังคงเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องบรรยากาศที่ดีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งในการรับมือกับโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้เป็นอย่างดี รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น