เซเว่น อีเลฟเว่น ต่อยอดภารกิจ “3 ให้” จับมือ อย. จัดสัมมนา “ผนึกกำลังผู้ประกอบการ SME ในการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย” ติวเข้มผู้ประกอบการ Food Supply Chain ชูเกณฑ์ใหม่ GMP เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่สากล ย้ำผลิตอาหารต้องผ่านข้อกำหนดพื้นฐานเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการปนเปื้อนจุลินทรีย์-กายภาพ-สารเคมี พร้อมเผย 3 เคล็ดลับเสริมแกร่งรายย่อยก่อนเข้า Modern Trade “สร้างจุดแข็ง แนวคิดชัด รักษามาตรฐาน” ปั้นธุรกิจโตอย่างยั่งยืน
นางสาวอินทิรา พฤกษ์รัตนนภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาใส่ใจด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนการผลิต ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศปรับหลักเกณฑ์ GMP ใหม่ ที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 ซีพี ออลล์ ภายใต้ภารกิจ “3 ให้” ช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก จึงได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ “ผนึกกำลังผู้ประกอบการ SME ในการยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย” แบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP (Good Manufacturing Practice) ให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของซีพี ออลล์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ทัดเทียมระดับสากล
“ที่ผ่านมา ซีพี ออลล์ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตอาหารมาโดยตลอด เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพและปลอดภัยที่สุดให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการติดอาวุธองค์ความรู้ให้แก่กลุ่ม SME ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญ เราในฐานะผู้ส่งเสริม SME จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการผลิตตามข้อกำหนด GMP มาร่วมเป็นถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ SME กลุ่ม Food Supply Chain เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และส่งเสริม SME ไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต” นางสาวอินทิรา กล่าว
ด้าน นางธิดา ทวีฤทธิ์ นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 ได้ปรับปรุงมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP ใหม่ให้กระชับและชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น หมวดที่ 1 ข้อกำหนดพื้นฐาน บังคับใช้กับอาหารทุกประเภท ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีคะแนนในแต่ละหมวดเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ จากทั้ง 5 หมวดย่อย ประกอบด้วย 1.สถานที่ตั้งอาคารผลิต การทำความสะอาด และการบำรุงรักษา 2.เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต การทำความสะอาดและการบำรุงรักษา 3.การควบคุมกระบวนการผลิต 4.การสุขาภิบาล และ 5.สุขลักษณะส่วนบุคคล ขณะที่หมวดที่ 2 ข้อกำหนดเฉพาะ จะบังคับใช้กรณีผลิตอาหารที่มีกรรมวิธีเฉพาะ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์น้ำบริโภค น้ำแร่ธรรมชาติ น้ำแข็ง 2.ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภค และ 3.ผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำและชนิดที่ปรับกรด ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องผ่านเกณฑ์ทุกข้อที่กำหนดไว้
“ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะขอการรับรองสถานที่ประกอบอาหารจาก อย. ต้องผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดพื้นฐาน และไม่พบข้อบกพร่องรุนแรง ซึ่งทาง อย. เน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่จะทำให้อาหารปลอดภัยจากอันตราย 3 ประเภท คือ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เช่น เศษเล็บและเส้นผม การปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมด้านกายภาพที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ เศษไม้ แก้ว โลหะ รวมถึงอันตรายจากสารเคมี ทั้งการปนเปื้อนจากวัตถุดิบ เช่น สารพิษตกค้าง และสารเคมีที่ใช้ในโรงงาน ในส่วนวัตถุเจือปนอาหารก็ต้องมีการควบคุมปริมาณไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ” นางธิดา กล่าว
ขณะที่ นางวาสนา สงวนสัตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องคำนึงถึงและถือเป็นหัวใจในการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ได้แก่ 1.สร้างจุดแข็ง โดยคัดสรรวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง และนำนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต 2.แนวคิดสินค้ามีความชัดเจน ผู้ประกอบการต้องสำรวจตลาดให้มั่นใจก่อนว่าสินค้าจะผลิตตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งบรรจุภัณฑ์ ราคา ลักษณะสินค้า ที่สำคัญจะต้องยึดหลัก “อร่อย สะดวก สะอาด ปลอดภัย” และ 3.รักษามาตรฐานให้ดีในทุกด้าน ตั้งแต่ความปลอดภัยของอาหาร รสชาติ มีคุณภาพ และมีปริมาณสินค้าที่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเลือกผลิตสินค้าที่กำลังได้รับความนิยม หรือสร้างความแตกต่างด้วยการเลือกผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคหาซื้อได้ยาก เพื่อให้สินค้าโดดเด่นและมียอดขายโตต่อเนื่อง
ข่าวเด่น