ก.ล.ต. สรุปผลการดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 มีโครงการที่สำเร็จแล้วเพิ่มอีก 6 โครงการย่อย รวมเป็น 43 โครงการย่อย หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของจำนวนโครงการย่อยรวมทั้งสิ้น 88 โครงการ นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2563 ซึ่งช่วยลดภาระและต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมูลค่ารวมมากกว่า 214 ล้านบาทต่อปี
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อลดขั้นตอน กระบวนการและเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนดำเนินการของภาคเอกชน และลดภาระของภาคเอกชนและประชาชน สอดรับกับหลักการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ระยะดำเนินการในช่วงปี 2563 – 2565 โดยทยอยดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 88 โครงการย่อย นั้น
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2563 จนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ก.ล.ต. สามารถดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ได้สำเร็จตามเป้าหมายแล้ว เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 43 โครงการย่อย หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของจำนวนโครงการย่อยทั้งหมด ซึ่งช่วยลดภาระและต้นทุนการดำเนินการของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้แล้ว 214.38 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาดำเนินการได้ 119,948 ชั่วโมงต่อปี และลดจำนวนกระดาษได้ 1,751,348 แผ่นต่อปี
ทั้งนี้ 43 โครงการย่อยที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ประกอบด้วยโครงการด้านธุรกิจตัวกลางและตลาด 11 โครงการ ด้านธุรกิจจัดการลงทุน 14 โครงการ ด้านการระดมทุน 14 โครงการ ด้านการกำกับการสอบบัญชีและรายงานทางการเงิน 3 โครงการ และด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและประสิทธิภาพองค์กร 1 โครงการ โดยโครงการที่สำเร็จเพิ่มเติมในไตรมาส 3 ปี 2564 จำนวน 6 โครงการย่อย ได้แก่
(1) รวมประกาศการกำหนดประเภทธุรกรรมทรัสต์ในตลาดทุนให้อยู่ในประกาศเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ
(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการรายงานผลการขายหลักทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) เพื่อลดรายการข้อมูลที่ต้องแสดงให้เหลือเท่าที่จำเป็นในการกำกับดูแล
(3) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์แปลงสภาพและหุ้นรองรับหลักทรัพย์แปลงสภาพต่อผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ติดข้อจำกัดของกฎหมายต่างประเทศ หรือต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนการเสนอขาย เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ภาคธุรกิจ
(4) ยกเลิกประกาศในกลุ่มธุรกิจตัวกลางที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้งาน เพื่อความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
(5) ปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เพื่อให้การปฏิบัติงานบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
(6) ปรับปรุงรูปแบบการนำส่งรายงานจากผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และทรัสตี ให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
ข่าวเด่น