นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ในจังหวัดบลูโซน 17 จังหวัด ประกอบด้วยภูเก็ต,สุราษฎร์ธานี,กรุงเทพฯ,สมุทรปราการ,กระบี่,พังงา,ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่หัวหิน และหนองแก, เพชรบุรี พื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ, ชลบุรี พื้นที่พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง และ อ.ศรีราชา,ระนอง พื้นที่เกาะพยาม,เชียงใหม่ พื้นที่อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า,เลย พื้นที่เชียงคาน, บุรีรัมย์ พื้นที่ อ.เมือง,หนองคาย พื้นที่ อ.เมือง อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ และ อ.สังคม,อุดรธานี พื้นที่ อ.เมือง อ.นายูง อ.หนองหาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม อ.กุมภวาปี และ อ.บ้านดุง,ระยอง พื้นที่เกาะเสม็ด และตราด พื้นที่เกาะช้าง
จากประกาศดังกล่าวทำให้หลายธุรกิจเริ่มยิ้มออก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านการท่องเที่ยว ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากช่วงที่โควิด-19 มีการระบาดอย่างหนัก ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะมีการผ่อนคลายมาตรการให้ร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้เกือบเป็นปกติ แต่ก็ยังมีข้อติดขัดในด้านของบริการ เนื่องจากภาครัฐยังคงไม่อนุญาตให้ร้านอาหารจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้สมาคมภัตตาคารไทยต้องออกโรงขอความเห็นใจภาครัฐให้ผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้ร้านอาหารสามารถกลับมาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ทางสมาคมได้เข้าหารือกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ถึงมาตรการผ่อนคลายให้ร้านอาหาร ภัตตาคาร สามารถกลับมาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรับการเปิดประเทศ ซึ่งเบื้องต้นผู้ว่ากรุงเทพฯ ยังไม่เห็นด้วยกับการให้ร้านอาหารทั้งหมดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะยังกังวลกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับที่ผ่านมา เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มักเกิดบทเรียนการแพร่ระบาดระลอกใหม่
cr photo : timeout
ทั้งนี้ หากจะผ่อนคลายให้ร้านอาหาร ภัตตาคาร จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จะเป็นพื้นที่สีฟ้า (Blue Zone) รวมถึงร้านที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสำหรับกิจการด้านการท่องเที่ยว SHA และ SHA+ ซึ่งพนักงานผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 2 เข็มเกินกว่า 90% ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารและภัตตาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นมีร้านที่มีมาตรฐาน SHA และ SHA+ ประมาณ 3,000 แห่ง แต่การกรอกข้อมูลดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน โดยมีร้านที่ได้มาตรฐานและยังไม่แจ้งในระบบมีจำนวนไม่น้อย เช่น เครือข่ายร้านอาหาร(เชน)บางแบรนด์มี 200 สาขา แต่ให้ข้อมูลในระบบเพียง 17 สาขา รวมถึงห้างค้าปลีกที่มีร้านอาหารนับร้อยภายในศูนย์การค้า จะนับเพียง 1 สาขา เป็นต้น
นางฐนิวรรณ กล่าวอีกว่า ร้านอาหารในพื้นที่สีฟ้าตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอรัฐบาล ควรได้รับการผ่อนคลายจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่อำนาจการตัดสินใจยังต้องรอให้คณะกรรมการโรคติดต่อของกทม.เสนอศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ อีกครั้ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ว่าราชการ ซึ่งที่ผ่านมามีบทเรียนหลายแบบเกิดขึ้น แต่สมาคมโรงแรม ภัตตาคาร ที่ทำมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทั้ง SHA Covid Free Setting ฯ ก็ควรได้รับการผ่อนคลาย เพราะปัจจุบันมีร้านอาหารจำนวนหนึ่งที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ลูกค้า แต่หน่วยงานรัฐมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะทำการจับกุม จึงทำให้ยังมีการลักลอบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นจิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้ประกอบการด้วย เพราะการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้าน มีการนั่งติดกัน จึงทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 ได้
cr photo : britishcouncil
แม้ว่าธุรกิจร้านอาหาร และภัตตาคาร จะมีความต้องการที่จะให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้ามองไปที่รายได้ที่มาจากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นางฐนิวรรณ กล่าวว่า มีสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 20% ส่วนที่เหลืออีก 80% เป็นการจำหน่ายอาหาร
ก่อนหน้าที่ทางสมาคมภัตตาคารจะออกมาขอให้ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทางบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ก็ได้มีการส่งจดหมายถึง พล ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่นกัน เพื่อวิงวอนขอให้ภาครัฐอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบขายปลีกให้กับนักท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อรองรับการเปิดประเทศ โดยส่วนหนึ่งของจดหมายที่นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ส่งถึงพล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง มีดังนี้
พวกเรา บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขอแสดงความชื่นชมท่านและทีมงานของท่านถึงความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราตั้งตารอมาตรการที่จะจำกัดและลดอัตราการติดเชื้อไวรัสนี้ และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา เราสนับสนุนและชื่นชมให้กับความพยายามทั้งหมดในการทำให้ประเทศของเรากลับสู่ภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกิจกรรมเชิงพาณิชย์
cr photo : thethaiger
ดังนั้น ผมจึงตั้งใจเขียนจดหมายถึงท่าน เพื่อวิงวอนขอให้มีการเริ่มจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบขายปลีกให้กับนักท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเร็วขึ้น เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เราจึงเข้าใจถึงความคาดหวังและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอย่างดี สำหรับทั้งนักเดินทางเพื่อธุรกิจและนักท่องเที่ยว การดื่มแอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญที่ช่วยสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่รื่นรมย์ในการมาเยือนของพวกเขา อีกทั้งรายได้จากการจำหน่ายแอลกอฮอล์ยังคิดเป็นสัดส่วนที่สำคัญของรายได้ในร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจโดยรวมในประเทศไทยและพนักงานนับล้านคนที่ธุรกิจเหล่านั้นว่าจ้าง
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงใคร่ขอให้ยกเลิกข้อจำกัดในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดได้ ผมใคร่ขอให้พิจารณายกเลิกข้อจำกัดเฉพาะในสถานประกอบการที่ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย หรืออย่างน้อยที่สุด ธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานความปลอดภัยและสุขภาพ (SHA+) ควรได้รับอนุญาตให้กลับมาให้บริการลูกค้าด้วยบริการที่ครบวงจรตามความต้องการของลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป
ข่าวเด่น