หลังจากมีการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากอาหารการกินแล้วในด้านของอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ คนไทยก็หันมาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครัวเรือนไทยไปเรียบร้อย
จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันตลาดรวมเครื่องฟอกอากาศมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด และถีบตัวขึ้นมามีมูลค่าสูงถึง 3,000 - 4,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียงแค่กว่า 1 ปีเท่านั้น จากเดิมมูลค่าตลาดเครื่องฟอกอากาศมีมูลค่าเพียง 1,700 ล้านบาท ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 2,500 ล้านบาท ในปี 2563 จากความสนใจในสินค้าดังกล่าวที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มหันมาสนใจทำการตลาดเครื่องฟอกอากาศกันมากขึ้น
นายอรุณพงศ์ ทองสุทธิ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศและเครื่องปรับอากาศ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าชาร์ป กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4 นี้ บริษัทคาดว่าตลาดเครื่องฟอกอากาศจะมีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีการตื่นตัวในด้านของการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีการคลายล็อค จึงทำให้ช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของครัวเรือน ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร หรืออาคารสำนักงาน เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพนักงาน
สำหรับแผนการทำตลาดของชาร์ป ในตอนนี้จะเน้นไปที่การโปรโมทนวัตกรรมพลาสม่าคลัสเตอร์ที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท สามารถยับยั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ เชื้อรา แบคทีเรียในอากาศ และบนพื้นผิว และยังเพิ่มความชุ่มชื้นให้อากาศด้วย
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและย้ำความแตกต่างจากคู่แข่ง แบรนด์ชาร์ป จึงได้มีการจัดแคมเปญครบรอบ 20 ปี พลาสม่าคลัสเตอร์ โดยมีไฮไลต์เป็นการลดราคาสูงสุด 36% และแถมเครื่องฟอกอากาศเมื่อซื้อตู้เย็นหรือเครื่องซักผ้ารุ่นที่ร่วมรายการ รวมถึงเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ เพื่อเสริมไลน์อัพให้กับกลุ่มสินค้าในตลาดระดับกลางจนถึงระดับบน
ด้าน แบรนด์ ไดกิ้น (Daikin) ก็ออกมาทำตลาดเครื่องฟอกอากาศอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะหลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไดกิ้นก็มียอดขายเครื่องฟอกอากาศโตเติบโตสูงถึง 400% ทำให้ล่าสุดแบรนด์ ไดกิ้น ต้องออกมาประกาศแคมเปญรุกทำตลาดเครื่องฟอกอากาศใหม่ ภายใต้ชื่อ “Clean Air Save Lives” เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ 15%
นายอาคิฮิสะ โยโคยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า แผนการทำตลาดนับจากนี้ บริษัทจะยังให้ความสำคัญกับการบุกตลาด B2B ด้วยการเปิดตัวแคมเปญ “Clean Air Save Lives” เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการชั้นนำให้เห็นถึงความสำคัญของการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่ได้คุณภาพ ผ่านกิจกรรมการตลาดที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการชู 2 กลยุทธ์สำคัญที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค คือ จุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ (Product Solution) และการสร้างความเชื่อมั่นในด้านการบริการ (Service Consultant)
สำหรับกลยุทธ์จุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ (Product Solution) ไดกิ้น ได้มีการชูจุดเด่นที่แตกต่างเหนือคู่แข่งของเครื่องฟอกอากาศ ไดกิ้น ซึ่งมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “สตรีมเมอร์” (Streamer) ที่ช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 99.9% อีกทั้งยังช่วยขจัดควันพิษ ก๊าซอันตรายจากสารเคมี ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโรค รวมถึงเทคโนโลยีตัวกรองฝุ่น PM2.5 ที่เข้ามาช่วยปรับอากาศภายในอาคารให้มีความสะอาดมากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)
ขณะที่กลยุทธ์การสร้างความเชื่อมั่นในด้านการบริการ (Service Consultant) นอกจากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแล้ว ไดกิ้นยังมุ่งมั่นและพัฒนาการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ทั้งในแง่มุมของลูกค้าและผู้ประกอบการให้เข้าถึงการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 1271 และแอปพลิเคชัน My Daikin เป็นต้น
นายบุญฤทธิ์ ฉันสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แสงชัยแอร์ควอลิตี้ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศ “บลูแอร์” กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดเครื่องฟอกอากาศในปีนี้ ถือว่ามีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง โดยในส่วนของตลาดระดับกลางและตลาดระดับล่างจะเน้นแข่งขันกันในด้านของราคา ขณะที่ตลาดระดับบนและตลาดพรีเมี่ยม จะเน้นการแข่งขันกันในด้านของนวัตกรรม เช่น การสั่งงานไร้สาย ความเงียบ และการวัดฝุ่น-มลพิษ เป็นต้น
ส่วนแผนการทำตลาดของแบรนด์ บลูแอร์ นับจากนี้จะเน้นพัฒนาสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาด เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนเป็นหลัก ด้วยการชูไปที่นวัตกรรมและฟังก์ชั่นการใช้งาน ซึ่งจะเน้นไปที่การฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอากาศได้ถึง 99.99% ควบคู่ไปกับการชูนวัตกรรมระบบลดความชื้นในแผ่นกรองที่ช่วยลดปัญหากลิ่นอับ ซึ่งแบรนด์คู่แข่งยังไม่มีการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเข้ามาทำตลาด ซึ่งนอกจากจะเน้นการทำตลาดเครื่องฟอกอากาศแล้ว บลูแอร์ ยังจะนำพัดลมฟอกอากาศในระดับราคาประมาณ 5,000-6,000 บาท เข้ามาทดลองทำตลาดอีกด้วย
ด้าน นายอำนาจ สิงห์จันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ย. 2564 บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวเครื่องฟอกอากาศรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาด ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า โดยเฉพาะสินค้ารุ่นเก่า ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนที่จะเดินหน้าทำตลาดหน้ากากฟอกอากาศ แอลจี เพียวริแคร์ รุ่น 2 ราคาประมาณ 6,490 บาท ด้วยการเพิ่มช่องทางจำหน่ายและโชว์สินค้าในช่องทางโมเดิร์นเทรด เพื่อให้ลูกค้ารู้จักสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะร่วมกับร้านดีลเลอร์รายใหญ่สร้างการรับรู้สินค้า ด้วยรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งหลังจากออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะมียอดขายเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ข่าวเด่น