ประเด็นสำคัญ
- เมื่อจีนสนใจ CPTPP กระตุกความสนใจของนานาชาติรวมทั้งไทยให้กลับมาทบทวนพิจารณาความตกลงนี้อย่างจริงจัง ซึ่งหากไทยหรือชาติใดจะเข้าเป็นสมาชิกต้องผ่านกระบวนการยอมรับจากสมาชิกเดิม การเจรจาเงื่อนไขการเปิดตลาด และสุดท้ายต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายของประเทศผู้สมัครที่โดยรวมต้องใช้เวลาราว 1-2 ปี หลังจากนั้นยังมีระยะเวลาผ่อนผันในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดตลาดที่ได้เจรจากันไว้ ดังนั้นในระยะ1-2 ปีนี้ CPTPP จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปปัจจุบัน ขณะเดียวกันไทยก็อยู่ใน RCEP ที่เป็นความตกลงพหุภาคีขนาดใหญ่ทั้งยังมีจีนรวมอยู่ด้วยแม้จะมีความโดดเด่นที่เอื้อประโยชน์ต่อไทยแต่ก็ไม่อาจมองข้าม CPTPP ได้

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP นับว่ามีข้อได้เปรียบเหนือกว่า RCEP ในบางประเด็นโดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดใหม่ การเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับไทยที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออก แต่ CPTPP ยังมีประเด็นอ่อนไหวด้านสิทธิบัตรยาและการคุ้มครองพืชพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลต่อประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ RCEP ไม่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขการรวมกลุ่ม ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักหากจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบด้านต่างๆ ของประเทศให้เป็นไปตามความตกลงที่เจรจาไว้ในระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็น FTA รูปแบบใดย่อมมีผลกระทบที่ทุกประเทศต้องเผชิญ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มจะเป็นจุดเปลี่ยนให้ทางการไทยสามารถเดินหน้าความตกลงต่างๆ ได้
การประชุม ครม. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ได้หารือเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อจีนหันมาสนใจสมัครสมาชิก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน รวมถึงสหราชอาณาจักรที่สมัครเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี โดยท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีนยิ่งทำให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีนหวนกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ปัจจุบันไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกในความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังรอการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ กรณีที่ 2 หาก CPTPP รับอังกฤษ ไต้หวัน จีนรวมถึงไทยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งการที่ไทยอยู่ในกลุ่มย่อมไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงตลาดสำคัญได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน ทั้งยังกลายเป็น FTA ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก แซงหน้า RCEP โดยภายใต้สมมติฐานว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลงมีข้อสังเกตความแตกต่าง ดังนี้
ข่าวเด่น