การค้า-อุตสาหกรรม
'สินิตย์' ประกาศช่วยเกษตรกรสวนผลไม้ นำร่องรุกตลาด RCEP










 ‘สินิตย์’ ประกาศเดินหน้าช่วยเกษตรกรสวนผลไม้ ดันทุเรียน กล้วยหอม สับปะรด และมังคุด รุกเจาะตลาด ‘RCEP’ สั่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศลงพื้นที่ทั่วประเทศ ชี้ช่องใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างแต้มต่อ ขยายโอกาสส่งออกผลไม้ไทย สร้างรายได้เพิ่มผ่านตลาดออนไลน์และออฟไลน์




นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลก เน้นใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าเจาะตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งหากความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับในต้นปีหน้า จะกลายเป็น FTA ฉบับที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันกว่า 2,300 ล้านคน โดยสมาชิก RCEP จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับผลไม้ส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากไทย ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสให้กับเกษตรกรไทยส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้บริโภคจะมีทางเลือกในการซื้อสินค้าและใช้บริการที่หลากหลายมากขึ้นด้วย  

 
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีความมุ่งมั่นให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มจากการส่งออกสินค้าผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศ จึงต้องเตรียมความพร้อมภายในประเทศอย่างเต็มที่ โดยได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรสวนผลไม้ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น อุตรดิตถ์ (ทุเรียน สับปะรด มังคุด) อุดรธานี (มะม่วง กล้วยหอม) ยะลา-เบตง (ทุเรียน มังคุด) เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA กฎระเบียบทางการค้า พฤติกรรมของผู้บริโภค และช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งแนวทางความสำเร็จของการส่งออกสินค้าผลไม้ในตลาด RCEP
 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า ภายใต้ความตกลง RCEP ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าผลไม้สดและผลไม้แปรรูปเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายรายการ เช่น เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าทุเรียน ปีละ 4.5% จนเหลือศูนย์ ในปีที่ 10 หลังจากความตกลงใช้บังคับ (ปี 2574) รวมทั้งจะทยอยลดภาษีนำเข้า มังคุด ฝรั่ง มะละกอ อินทผาลัม เปลือกส้ม เหลือศูนย์ ในปี 2574 ส่วนจีน ปัจจุบันยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้สดและแปรรูปส่วนใหญ่ให้ไทยแล้วภายใต้ FTA อาเซียน-จีน แต่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้แปรรูปเพิ่มเติม จนเหลือศูนย์ ในปีที่ 20 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ (ปี 2584) ขณะที่ญี่ปุ่น จะทยอยลดภาษีนำเข้าน้ำมะเขือเทศ เหลือศูนย์ ในปี 16 หลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ (ปี 2579) เป็นต้น



ทั้งนี้ ผลไม้เป็นสินค้าเกษตรสำคัญของไทยที่นำรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้ FTA ของไทยที่มีผลบังคับใช้แล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ปัจจุบัน 12 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไนฯ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีศุลกากรนำเข้าผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ที่ส่งออกจากไทยทุกชนิด ส่วนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไม่เก็บภาษีนำเข้ากับผลไม้ส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากไทย



สำหรับในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้งไปทั่วโลก มูลค่ารวม 5,164.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA สัดส่วนสูงถึง 97% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด และส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP สัดส่วน 92% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด ซึ่งจีนถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้สำคัญของไทย มีมูลค่าส่งออก 3,824 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 86% การค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 89% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ผลไม้ไทยที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ทุเรียน มะม่วง ลำไย เงาะ และมังคุด เป็นต้น 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ย. 2564 เวลา : 11:27:01
19-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 19, 2025, 7:09 am