แบงก์-นอนแบงก์
ออมสิน จับมือหอการค้าไทย หนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน รับเปิดประเทศ-ธุรกิจฟื้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2564) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนเงินทุนสำหรับ SMEs ภายใต้ “โครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน” ระหว่าง ธนาคารออมสิน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประมาณ 1 แสนราย ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่
 
 
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยภายใต้ความร่วมมือ “โครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน” ในครั้งนี้ ธนาคารออมสิน ได้ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้แก่สมาชิกของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย สินเชื่อ GSB Smooth BIZ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท และ สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจ Small SMEs สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ หรือนำไปไถ่ถอนสัญญาขายฝาก ให้กู้โดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 70 ของราคาประเมินราชการ ไม่ตรวจเครดิตบูโร อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.99% ตลอดสัญญา ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 7 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 2 ปี นอกจากนี้ สมาชิกหอการค้าฯ ยังสามารถเลือกใช้บริการสินเชื่ออื่น ตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ตามความประสงค์ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan สำหรับ SMEs ท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง / สินเชื่อ Soft Loan ธปท. เพื่อฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น
 

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า โครงการ “สินเชื่อ SMEs มีที่มีเงิน”  ในระยะที่ 1 และ 2 ได้รับความสนใจมาก มีผู้ประกอบการมายื่นขอสินเชื่อเฉลี่ยรายละ 4-5 ล้านบาท ทำให้วงเงินกู้เต็มวงเงินอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับเฟส 3 ที่เปิดใหม่นี้ ตั้งวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท แต่หากเต็มวงเงินก็ขยายวงเงินเพิ่มเติมได้อีก เพราะเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอให้ธนาคารออมสินดำเนินการ เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงระหว่างการเปิดประเทศ โดยอนุญาตให้ปรับหลักเกณฑ์ได้เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น อาทิ วงเงินปล่อยกู้สำหรับบุคคลธรรมดา เริ่มตั้งแต่ 3 แสนบาท – 10 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคล เริ่มตั้งแต่ 3 แสนบาท – 50 ล้านบาท รวมทั้งมีการผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อภายในให้มีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย เพื่อช่วยให้ SMEs ขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจภายหลังการเปิดประเทศ ซึ่งในภาวะปกติธนาคารไม่สามารถผ่อนปรนหลักเกณฑ์เหล่านี้ได้
 
 
นายวิทัยกล่าวต่อถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารออมสิน ณ สิ้นปี 2564 คาดว่า จะอยู่ระดับ 2% ต้นๆ โดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และไม่กระทบกับฐานะของธนาคาร เนื่องจากธนาคารมีการตั้งสำรองส่วนเกินในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาท จากที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 5 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7 เท่า รวมถึงอัตรากำไรในปีนี้คาดจะเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนด้วย เนื่องจากมีการลดต้นทุนค่าบริการจัดการต่าง ๆ ลงไปได้มาก ทำให้ธนาคารมีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท


 
ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และได้ตั้งเป้าหมายไว้เป็นภารกิจแรก ๆ ที่ต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยธนาคารออมสินได้ร่วมดำเนินการความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาธนาคารออมสินได้ร่วมกับหอการค้าฯ ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ผ่านโครงการต่าง ๆ ของธนาคารออมสิน และสินเชื่อสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลามาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการขยายขอบข่ายความร่วมมือไปยังเครือข่ายหอการค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
 
 
“ความร่วมมือในครั้งนี้  ถือเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน และหน่วยงานต่าง ๆ ตามแนวทาง connect the dots เชื่อมจุด เชื่อมโอกาส ให้กับผู้ประกอบการอย่างแท้จริง และช่วยส่งเสริมสนับสนุนในการพัฒนาผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต และรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565” นายสนั่นกล่าว

 
นายสนั่นกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs มีความต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะภายหลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสินตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
 

นอกจากนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการเสนอรัฐบาลพิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่นำเกณฑ์การตรวจเครดิตบูโรเข้ามาประกอบในการพิจารณาให้สินเชื่อ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทันเวลา
 

นายสนั่นยังระบุอีกว่า โครงการสินเชื่อหลายโครงการก่อนหน้านี้ของรัฐบาล อาจจะยังไม่ตรงประเด็นและไม่ตรงเป้าหมาย ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เช่น โครงการพักทรัพย์พักหนี้ โครงการสินเชื่อฟื้นฟู โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และ ธปท. รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เพื่อหาทางแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการเสนอให้รัฐบาลผ่อนปรนเกณฑ์ปล่อยกู้ให้ SMEs เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

“เชื่อว่าภายหลังการเปิดประเทศแล้ว รัฐบาลคงจะไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกแน่นอน เพราะการเร่งกระจายฉีดวัคซีนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปัจจุบันมีประชาชนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 แล้วน่าจะเกิน 100% ขณะที่เข็ม 2 คาดว่าจะทยอยฉีด และภายในปลายปี 2564 จะมียอดฉีดเกิน 70% ของประชากรทั้งหมด”นายสนั่นกล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ย. 2564 เวลา : 18:12:47
24-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 24, 2025, 8:43 am