Key Highlights
- Krungthai COMPASS ประเมินผลผลิตข้าวที่เสียหายจริงจะอยู่ที่ราว 1.6 ล้านไร่ คิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 5.4 พันล้านบาท โดยผลผลิตข้าวที่ได้รับเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัด นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และพิจิตร เนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
- ผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2021 ส่งผลเสียหายน้อยเมื่อเทียบกับมหาอุทกภัยในปี 2011 และปัญหาภัยแล้งในปี 2015 โดยอุทกภัยปี 2011 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 11.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมถึง 43.6 พันล้านบาท ขณะที่ภัยแล้งในปี 2015 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 2.9 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 10.5 พันล้านบาท
- ผลจากอุทกภัยครั้งนี้ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในระดับที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก จึงคาดว่าในปี 2022 ผลผลิตข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 6.3% แต่การส่งออกยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงด้านราคา เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม และอินเดีย จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกดดันให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง
Krungthai COMPASS
ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกษตรกรรวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานธุรกิจข้าวต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาในด้านการผลิตและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากของโรงสี (เกือบ 2 เท่าของปริมาณข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบในแต่ละปี) อีกทั้งการบริโภคในประเทศก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น หนำซ้ำยังมีแนวโน้มลดลงตามกระแสรักษ์สุขภาพอีกด้วย ขณะที่การส่งออกข้าวก็ยากขึ้น เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยยังสูงกว่าคู่แข่งและมีแนวโน้มที่จะถูกตีตลาดจากข้าวพื้นนุ่มของเวียดนามที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดโลก จึงมีความกังวลและเกิดคำถามว่าปัญหาอุทกภัยในปีนี้ที่ขยายวงไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง จะมาซ้ำเติมธุรกิจข้าวอีกหรือไม่ ผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใด รวมถึงพื้นที่ไหนและจังหวัดใดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
เครื่องมือที่ช่วยประเมินผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติก้าวหน้าแค่ไหน?
ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยในการวิเคราะห์ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ จากเดิมที่ใช้วิธีการลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งในบางครั้งข้อมูลอาจล่าช้าและไม่ทันเหตุการณ์ โดยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจัดเป็นข้อมูล High-Frequency Indicator ซึ่งความถี่ในการอัพเดทข้อมูลเป็นรายวัน ทำให้ช่วยติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติล่าสุดได้ ยกตัวอย่างเช่นแผนที่ดาวเทียมของ GISTDA ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2021 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง ได้แก่ จังหวัดในภาคกลาง คือ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี (รูปที่ 1)
ประเมินผลผลิตข้าวเสียหายเท่าไหร่? ผลผลิตข้าวจังหวัดไหนได้รับความเสียหายมากสุด?
จากข้อมูลทางดาวเทียมของ GISTDA พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้มีประมาณ 3.9 ล้านไร่ โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะได้รับเสียหายจริงประมาณ 1.6 ล้านไร่ หรือคิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,400 ล้านบาท โดยผลผลิตข้าวที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่เป็นข้าวที่อยู่ในระยะ (Stage) ของการเจริญเติบโต หรือข้าวที่ออกรวงและพร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนข้าวที่เพิ่งหว่านคาดว่าจะสามารถทนน้ำได้ และหากเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขังนาน ข้าวจะไม่เสียหายมากนัก โดยปกติข้าวจะทนน้ำได้อย่างน้อย 15 วัน ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น จังหวัดที่คาดว่ามีผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และขอนแก่น ตามลำดับ
ความเสียหายเมื่อเทียบกับอุทกภัยปี 2011 และภัยแล้งในปี 2015
หากเทียบกับความเสียหายจากมหาอุทกภัยในปี 2011 และปัญหาภัยแล้งในปี 2015 เรียกได้ว่าอุทกภัยปีนี้มีสัดส่วนความเสียหายน้อยมาก โดยจากข้อมูลของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้ว่าอุทกภัยปี 2011 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายอยู่ที่ 11.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมถึง 43,601 ล้านบาท มากกว่าความเสียหายในปีนี้ถึง 8 เท่า ขณะที่ภัยแล้งในปี 2015 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายอยู่ที่ 2.9 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 10,508 ล้านบาท มากกว่าครั้งนี้ประมาณ 2 เท่า และนอกจากปัญหาอุทกภัยในรอบนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวมากนักแล้ว คาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำสะสมใช้การได้ในเขื่อนอยู่ในระดับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีให้ช่วงฤดูแล้งของปี 2022 จะมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก
ทิศทางธุรกิจข้าวปี 2022 จะเป็นอย่างไร?
Krungthai COMPASS มองว่า ในปี 2022 ผลผลิตข้าวเปลือกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 32 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 6.3%YoY จากสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะดีขึ้นแต่ไม่มากนัก โดยอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านตัน และยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับในช่วงปี 2007-2018 ที่เคยส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน ทั้งนี้ เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่า จะทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันกับราคาข้าวที่ต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้ยากขึ้น อีกทั้งคาดว่าผลผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น เวียดนามและอินเดีย จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ยิ่งทำให้การแข่งขันในตลาดข้าวโลกรุนแรง จึงคาดว่าราคาขายส่งข้าวสารของไทยจะมีแนวโน้มลดลง โดยประเมินว่าในครึ่งแรกของปี 2022 ราคาขายส่งข้าวขาว 5% เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 11,270 บาท/ตัน หรือลดลง 21.1%YoY ส่วนราคาขายส่งข้าวหอมมะลิ 100% เฉลี่ยจะอยู่ที่ 18,668 บาท/ตัน หรือลดลง 20.7%YoY นอกจากนี้ ปัญหาต้นทุนค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยถ่วงอัตรากำไรของธุรกิจ
Implication:
แม้อุทกภัยรอบนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวอย่างมีนัยสำคัญ แต่ธุรกิจโรงสียังมีความเสี่ยงด้านวัตถุดิบที่มีน้อยกว่ากำลังการผลิตโดยรวม ประกอบกับต้องแข่งขันด้านราคาในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อรักษากำลังการผลิต ทำให้ มีต้นทุนในการผลิตสูง ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารถูกกดดันจากตลาดส่งออก ส่งผลให้ Margin ของธุรกิจโรงสีข้าวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งหากมีสต็อกเดิมเหลืออยู่และระบายออกไม่ทันจะยิ่งมีความเสี่ยงขาดทุนสต็อกมากขึ้น
ปัญหาภัยธรรมชาติเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากและส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวเปลือก ดังนั้น ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจข้าวควรให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลเผยแพร่ทั้งจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ โดยทาง Krungthai COMPASS ได้รวบรวมไว้เบื้องต้น ดัง Box.1
1. แนวโน้มการเกิด El nino หรือ La Nina
แสดงผลพยากรณ์ความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฎการณ์ El nino (ภาวะฝนแล้ง) หรือ La nina (ภาวะฝนมาก) ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าโอกาสเกิด La nina ในช่วงต้นปีหน้าน้อยลง โดยผลพยากรณ์ต้นเดือนตุลาคม 2021 แสดงให้เห็นว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฎการณ์ La Nina (กราฟแท่งสีน้ำเงิน) ในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมอยู่ที่ 65-85% (ภาพล่างด้านซ้าย) แต่ผลพยากรณ์เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2021 กลับพบว่า ความน่าจะเป็นที่สภาพอากาศจะอยู่ในปรากฎการณ์ La Nina ในช่วงเดียวกัน ลดลงไปอยู่ที่ 45-72% (ภาพด้านล่างขวา) สอดคล้องกับความน่าจะเป็นที่สภาพอากาศจะอยู่ในภาวะปกติ (กราฟแท่งสีเทา) ซึ่งผลพยากรณ์ต้นเดือนตุลาคม 2021 อยู่ที่เพียง 12-35%(ภาพด้านล่างซ้าย) แต่ผลพยากรณ์เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2021 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 28-55% (ภาพด้านล่างขวา)
2. ทิศทางกระแสลมและพายุ
แสดงภาพการเคลื่อนไหวและทิศทางของกระแสลมและการเคลื่อนตัวของพายุ โดยการเคลื่อนไหวของลมในเดือนพฤศจิกายน 2021 จะเห็นได้ว่ามีกระแสลมเคลื่อนตัวผ่านบริเวณภาคอีสานและภาคใต้ของไทย ทำให้ยังคงมีฝนตกในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งหากมีการเคลื่อนตัวของพายุผ่านประเทศไทย ภาพจะแสดงเป็นกระแสลมแบบหมุนวน
3. คาดการณ์ปริมาณน้ำฝน
แสดงการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ โดยหากพื้นที่ใดมีแถบสีขาว (อยู่ในกลุ่ม Normal) แสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณฝนตกปกติ เช่น ในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2022 คาดว่าในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางของไทยฝนจะตกปกติ ขณะที่พื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกมากกว่าปกติ (แถบสีเขียว)
4.ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้รายภาค
พิจารณาเบื้องต้นจากปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้จริง หากต่ำกว่า 30% แสดงว่าอยู่ในระดับวิกฤต
5.ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมจากดาวเทียมของ Gistda
พื้นที่สีน้ำเงินคือ บริเวณที่เกิดน้ำท่วมขัง โดยข้อมูลจะอัพเดตเป็นรายวัน
ข่าวเด่น