ยูนิเซฟเปิดตัวคู่มือดูแลสุขภาพใจ ฉบับวัยรุ่น และ ฉบับผู้ปกครอง ให้ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ ภายใต้แคมเปญ Every Day is Mind Day เพื่อช่วยให้ทุกคนดูแลส่งเสริมสุขภาพใจตนเองและคนที่ห่วงใยได้ดียิ่งขึ้น
องค์การยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกันพัฒนาคู่มือดูแลสุขภาพใจดังกล่าว โดยมีข้อมูลด้านสุขภาพจิต รวมถึงเกร็ดความรู้และขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำความรู้จักสภาวะอารมณ์และจิตใจตนเอง ส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้สภาพจิตใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเยียวยาสุขภาพใจ รวมไปถึงวิธีการง่าย ๆ ในการดูแลสุภาพใจตนเองและคนที่เรารัก ตลอดจนช่องทางขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น คู่มือนี้ยังย้ำเตือนเสมอว่า ปัญหาสภาวะทางใจเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเด็ก ๆ ในประเทศไทยอย่างรุนแรง หลายคนตกอยู่ในความวิตก โดดเดี่ยว และกังวลต่ออนาคตของตนเองและคนใกล้ชิด” นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว “เราหวังว่าเยาวชนและผู้ปกครองจะสามารถดูแลสุขภาพจิตใจของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นด้วยคู่มือดูแลสุขภาพใจของเรา และวันหนึ่งจะทำให้พวกเขาพร้อมเปิดใจพูดคุยเรื่องสภาวะจิตใจได้ เพราะยิ่งเราพูดเรื่องสุขภาพใจมากเท่าไหร่ การตีตราต่อปัญหาสุขภาพจิตก็จะลดน้อยลง”
คู่มือดูแลสุขภาพออกแบบมาเป็นสองฉบับ สำหรับวัยรุ่นและผู้ปกครอง พร้อมให้ดาวน์โหลดทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์ของยูนิเซฟประเทศไทย ยูนิเซฟสนับสนุนให้เด็ก ๆ ผู้ปกครอง และ นักการศึกษาดาวน์โหลดคู่มือดูแลสุขภาพใจนี้และแชร์กันในกลุ่มเพื่อนและเครือข่าย
ศิลปินและผู้มีชื่อเสียง อาทิ เป๊ก ผลิตโชค อายนบุตร, ซินดี้ สิรินยา วินสิริ, ตงตง กฤษกร กนกธร, มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์, และ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนล่าสุด แอนชิลี สก๊อต เคมมิส ร่วมแชร์ความรู้สึกของตัวเองเป็นเวลา 7 วันบนอินสตาแกรมด้วยฟิลเตอร์อิโมจิภาษาใจ ใน กิจกรรม 7-day challenge พูดจาภาษาใจ เพื่อเปิดบทสนทนาเรื่องสุขภาพใจและส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลและช่องทางที่จะช่วยดูแลสุขภาพใจของตนเองได้
ข้อมูลใหม่จากยูนิเซฟใน the State of the World’s Children report ชี้ให้เห็นว่าเด็กอย่างน้อย 1 ใน 7 คนทั่วโลกได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมกับเตือนว่าเด็ก ๆ อาจต้องแบกรับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างยาวนานอีกหลายปี นับตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดมีการประมาณการไว้ว่าเด็กวัย 10-19 ปี 1 ใน 7 คนทั่วโลกได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิต
นอกจากนี้แล้ว แบบสำรวจออนไลน์ของกรมสุขภาพจิตที่ทำการสำรวจเด็กวัยรุ่นประมาณ 192,000 คนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2564 พบว่า ในประเทศไทยเองมีเด็กวัยรุ่นถึง 22 เปอร์เซ็นต์ ที่กำลังเผชิญกับความเครียดสูง 31 เปอร์เซ็นต์ มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และอีก 22 เปอร์เซ็นต์ มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย
ข่าวเด่น