เกษตรทันสมัยสู่ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท ฟาร์ม การนำนวัตกรรม เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์มาใช้ เป็นแนวทางใหม่ที่เกษตรกรให้ความสำคัญ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ "สมาร์ท ฟาร์ม " นอกจากเป็นการทำการเกษตรที่ทันสมัย สามารถวางแผนการทำงานได้อย่างแม่นยำแล้ว ยังตอบโจทย์การผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อส่งมอบให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ฟาร์มสุขสำราญ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ฟาร์มเลี้ยงสุกรในรูปแบบสมาร์ท ฟาร์ม เต็มรูปแบบ ซึ่งเจ้าของฟาร์มในวัย 46 ปี "วุฒาฤทธิ์ สันติวิชัยกุล" หรือ วุฒ เจ้าของกิจการโรงสีข้าวและโรงงานไม้สัก ที่ตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมู เริ่มต้นจากความสนใจทำฟาร์มเลี้ยงหมูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับได้รับการชักชวนและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เข้ามาชักชวนว่ากำลังขยายโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกร (ฝากเลี้ยง) หรือคอนแทรคฟาร์ม ในพื้นที่ อ.สิรินธร จึงศึกษาระบบฯอย่างจริงจัง ตระเวนดูงานในฟาร์มหมูของเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มรายอื่นๆ พบว่าเป็นระบบที่มีมาตรฐาน ทั้งเรื่องระบบการเลี้ยงและการให้ผลตอบแทน จึงตัดสินใจสร้างฟาร์มสุขสำราญ เมื่อปลายปี 2562 บนพื้นที่ 84 ไร่ มีโรงเรือนเลี้ยงหมูขุน 8 หลัง ความจุรวม 14,000 ตัว
วุฒาฤทธิ์ ถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดการทำสมาร์ทฟาร์มว่า เขานำเทคโนโลยีเต็มรูปแบบมาใช้ ทั้งระบบให้อาหารอัตโนมัติ ที่ช่วยลดแรงงาน ไม่ใช้คนเข้าไปให้อาหารในโรงเรือน เพื่อให้คนสัมผัสตัวสัตว์น้อยที่สุด ลดความเสี่ยงการนำโรคต่างๆเข้าสู่ฝูงสัตว์ ตามมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ทั้งภายในโรงเรือนเลี้ยงและภายนอก ภาพทั้งหมดเชื่อมต่อเข้ามือถือ ทำให้สามารถติดตามความเป็นอยู่ของสัตว์ เห็นภาพรวมภายในโรงเรือน และเห็นการทำงานของอุปกรณ์รวมถึงคนเลี้ยงได้ตลอดเวลา หากสภาพแวดล้อมไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด ก็สามารถปรับแก้ไขได้ทันท่วงที มีการสั่งงานผ่าน CCTV ช่วยให้สื่อสารกับคนเลี้ยงได้อย่างรวดเร็ว ระบบสามาร์ทฟาร์มยังทำให้มีข้อมูลขนาดใหญ่ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการผลิต ต้นทุนต่อตัว และวางแผนการเลี้ยงได้
วุฒ เล่าต่อว่า ฟาร์มสุขสำราญ ลงทุนระบบป้องกันโรค หรือ Biosecurity ขั้นสูงสุด เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญของการป้องกันโรคไม่ให้เข้าสู่ฝูงสัตว์ ด้วยการทำฟาร์มระบบปิด ทางเข้า-ทางออกของหมูแยกออกจากกัน แยกส่วนพักอาศัย ส่วนเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่ขายหมูอย่างชัดเจน ควบคู่กับการซีล (Seal) ให้บุคลากรที่ทำงานฟาร์มพักอาศัยอยู่ภายในฟาร์ม งดการออกนอกพื้นที่ และดูแลความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด เพื่อการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงต่อการนำโรคจากภายนอกเข้ามาสู่ฟาร์ม ก่อนเข้าทำงานในฟาร์มทุกคนต้องอาบน้ำ-สระผม เปลี่ยนชุดและรองเท้าที่เตรียมไว้ให้เท่านั้น และห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโดยไม่ได้รับอนุญาต
“การลงทุนทั้งระบบป้องกันโรคที่เข้มงวดและระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะการป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าแก้ไขในภายหลัง ขณะเดียวกัน เราให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตที่ดี ทั้งมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ และยึดหลักสวัสดิภาพสัต (Animal Welfare) โดยไม่มีการกั้นคอกเลี้ยง หมูทุกตัวมีอิสระจะอยู่ในคอกไหนก็ได้ กิน นอน ขับถ่ายได้อิสระ มีอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เมื่อหมูอยู่สบาย จึงไม่เครียด การเจริญเติบโตก็ดีตามไปด้วย ระบบทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง และส่งเสริมการผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพ ปลอดภัย ปลอดโรค” วุฒาฤทธิ์ กล่าว
ด้วยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน และมีสภาพแวดล้อมที่สวยงามน่าอยู่ ฟาร์มสุขสำราญ ยึดแนวกรีนฟาร์ม (Greenfarm) ของซีพีเอฟ โดยเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนปิดแบบอีแวป ช่วยให้สภาพอากาศภายในโรงเรือนเหมาะสมทำให้หมูอยู่สบาย และช่วยป้องกันเรื่องกลิ่นและสัตว์พาหะต่างๆ มีระบบส้วมน้ำ ที่ช่วยแบ่งแยกจุดขับถ่ายในคอกเลี้ยง ทำให้คอกสะอาดและช่วยลดการใช้น้ำในการล้างคอก มีระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือน ลดกลิ่นเหม็นและกลิ่นแก๊สแอมโมเนียได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเพิ่มระบบพ่นน้ำยาปรับอากาศ และมีระบบไบโอแก๊ส ที่ทั้งลดกลิ่นและได้ก๊าซชีวภาพที่เป็นพลังงานสะอาด ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้มากกว่า 80%
จากความสำเร็จของฟาร์มสุกรแห่งแรก ในเวลาอีกไม่ถึงปี วุฒาฤทธิ์ ตัดสินใจขยายฟาร์มเลี้ยงหมูขุนแห่งที่สอง ที่ อ.พิบูลมังสาหาร จำนวน 12 โรงเรือน บนพื้นที่ 128 ไร่ เริ่มเข้าเลี้ยงหมู ในช่วงเดือนมกราคม 2565 นี้ เขาบอกว่า “เมื่อก่อนเรามองเรื่องการเลี้ยงหมูอาจดูว่าไม่ค่อยมีมาตรฐาน หมูกินเศษอาหาร และมีกลิ่นเหม็น จนเมื่อได้เป็นเกษตรกรทำคอนแทรคฟาร์มกับซีพีเอฟ ถึงรู้ว่าที่เราคิดนั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน เพราะการเลี้ยงมีมาตรฐาน หมูสะอาด กินอาหารที่ดี ไม่มีการใช้สารเคมี ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง และกว่าจะเข้าฟาร์มได้ต้องทำความสะอาด อาบน้ำ ฆ่าเชื้อ โรงเรือนไม่มีแมลงเข้า หมูอยู่เย็น สบาย มีความสุข ผลผลิตจึงมีคุณภาพ ปลอดสารปลอดภัย ปลอดโรค ในฐานะเกษตรกรรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค” วุฒาฤทธิ์ กล่าว
บุญเลิศ มาศผล หรือ เลิศ เจ้าของ ฟาร์มมาศผล ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง อายุ 54 ปี เป็นเกษตรกรอีกรายที่ประสบความสำเร็จกับอาชีพเลี้ยงหมู หลังจากตัดสินใจเปลี่ยนทุเรียนมาทำฟาร์มหมูขุนกับซีพีเอฟ ตั้งแต่ปี 2552 เลี้ยงหมูขุน 3,000 ตัว ด้วยระบบการเลี้ยงมาตรฐานของซีพีเอฟที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มจากกรมปศุสัตว์ นำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาใช้ ภายใต้การเลี้ยงระบบปิด โรงเรือนอีแวปที่มีระบบส้วมน้ำเต็มรูปแบบ ใช้ไบโอแก๊สในการจัดการกับของเสียภายในฟาร์ม ได้ประโยชน์ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและได้พลังงานไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 100% ติดตามสภาพแวดล้อมในฟาร์มด้วยกล้อง CCTV ส่วนระบบการให้อาหาร ระบบน้ำ พัดลมระบายอากาศ มีเซนเซอร์ควบคุม ขณะที่อุณหภูมิ ความชื้น และความเร็วลม จะควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ส่งคำสั่งผ่านสมาร์ทปลั๊กในโรงเรือน
จากฟาร์มหมูขุนแห่งแรก ต่อยอดสู่มาศผลฟาร์ม 2 อ.เมือง จ.สระแก้ว เลี้ยงหมูขุน 6,000 ตัว เมื่อปี 2556 เป็นฟาร์มที่ติดตั้งระบบอัตโนมัติเช่นเดียวฟาร์มแรก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งนำระบบโซลาร์เซล ขนาด 20 กิโลวัตต์ มาใช้ควบคู่กับไบโอแก๊ส ทำให้ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเลย บางช่วงเวลามีไฟฟ้าเหลือใช้ด้วยจากขุมพลังของทั้งโซลาร์เซล และไบโอแก๊ส ทั้งฟาร์มและบ้านพักใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด ตั้งแต่ระบบปั๊มน้ำ การใช้พัดลม และการจัดการน้ำเสียในกระบวนการผลิต
“การนำระบบอัตโนมัติมาช่วยในกระบวนการเลี้ยงหมู ทำให้สามารถควบคุมกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้ การเลี้ยงหมูทั้ง 2 ฟาร์ม มีการติดตามผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ด้วยระบบสมาร์ทฟาร์มที่ช่วยให้มองเห็นความเป็นอยู่ของหมู กิจกรรมในฟาร์ม การทำงานของบุคลากร ซึ่งที่ฟาร์มมีคนเลี้ยงเพียง 2 คน มีหน้าที่หลัก คือ ทำความสะอาด อาบน้ำหมู และดูสุขภาพหมู หากไม่มีงานเร่งด่วนจะไม่เข้าไปในโรงเริอนเลย เพื่อลดการสัมผัสฝูงสัตว์ ลดการนำเชื้อโรคต่างๆเข้าสู่ตัวหมู การลงทุนกับระบบสมาร์ทฟาร์มถือว่าคุ้มค่ามากกับผลตอบแทนการเลี้ยงที่ได้รับ ซึ่งดีขึ้นเป็นลำดับตลอด 12 ปีที่ยึดอาชีพนี้" บุญเลิศ กล่าว
ความสำเร็จทั้งหมดนี้ บุญเลิศบอกว่า มีซีพีเอฟเป็นเพื่อนที่ช่วยผลักดันมาตลอด ทำให้ชาวสวนที่ไม่เคยรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์สามารถทำอาชีพเลี้ยงหมูภายใต้ระบบมาตรฐาน ได้ผลผลิตหมูที่ปลอดภัย ปลอดสาร มีอาชีพที่มั่นคง ต่อยอดอาชีพ ขยายความสำเร็จได้อย่างเข้มแข็ง
ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ ซีพีเอฟมุ่งมั่นยกระดับระบบการบริหารฟาร์มเลี้ยงสัตว์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม ก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพและปลอดภัย นำไปสู่ความสำเร็จของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น