ช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี ถือเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากเป็นช่วงที่สินค้าต่างๆ จะออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกันอย่างคึกคัก เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 กลยุทธ์ดังกล่าวดูเหมือนจะได้ผลเป็นอย่างดี แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 การใช้กลยุทธ์ดังกล่าวก็ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผล
ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ประกอบการห้างค้าปลีก นำโดย “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” เลยต้องออกโรงเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการค้าปลีก ขอความเห็นใจจากภาครัฐให้เดินหน้าผลักดันโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อสร้างความคึกคักในช่วงไฮซีซั่นของปีนี้
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เราเริ่มเห็นการออกมาจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว รัฐบาลควรเร่งเดินหน้าผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยเฉพาะในช่วงปลายปีถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะปลุกอารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคให้สะพัดขึ้นภายในประเทศ และผ่านกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงในโครงการช้อปดีมีคืน
สำหรับข้อเสนอที่ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย อยากให้ภาครัฐนำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 มีรายละเอียด ดังนี้
1.ระยะเวลาตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน - 31 ธันวาคม 2564 เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ของปี 2564
2.กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้จำนวน 3.7-4.0 ล้านคนทั่วประเทศ โดยไม่มีการจำกัดเงื่อนไข และไม่จำกัดสิทธิกลุ่มที่เคยลงทะเบียนในมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาล อาทิ คนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1.5-2.0 ล้านคน
3.ขยายวงเงินเป็น 200,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท (ในปี 2563) คาดการณ์เงินสะพัดรวมอยู่ที่ 3-4 แสนล้านบาท ส่งผลให้ GDP เติบโตขึ้นถึง 0.7-1.0%
ทั้งนี้ หากภาครัฐมีการเดินหน้าโครงการตามที่เสนอ ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเชื่อว่า โครงการ “ช้อปดีมีคืน” จะสามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมูลค่าสูงที่สุด เพราะโครงการดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนการใช้จ่ายของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อได้อย่างตรงจุดในระยะเวลาอันสั้น ด้วยการใช้งบประมาณเพียง 15,000-20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าลดหย่อนภาษี จึงถือเป็น ”บาซูก้าทางการคลัง” ที่สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้อย่างมหาศาลในระยะเวลาอันรวดเร็วและใช้งบประมาณเพียงเล็กน้อย
นายญนน์กล่าวอีกว่า ทางสมาคมฯ เชื่อว่าโครงการ “ช้อปดีมีคืน” จะเป็นไม้ตายสุดท้ายของปีนี้ ในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และสร้างเม็ดเงินไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะโครงการดังกล่าวเป็นการกระตุ้น Local Consumption ผ่านกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงให้ออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถเพิ่มเม็ดเงินให้เกิดขึ้นในประเทศได้ทันที โดยไม่ต้องรอเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไม่เต็มที่
น.ส.วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ กล่าวว่า หลังจากภาครัฐประกาศมาตรการผ่อนคลายให้กับห้างค้าปลีก ขณะนี้มีลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริการแล้วประมาณ 80-90% ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ขณะที่วันธรรมดามีลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริการที่ประมาณ 60-70% และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้บรรยากาศต่างๆ กลับมาคึกคักมากขึ้น ผู้บริหารของเดอะมอลล์ ได้เสนอความคิดเห็นว่า สิ่งที่จะทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ปัจจัยสำคัญ คือ ภาครัฐจะต้องมียาแรงออกมากระตุ้นให้ผู้บริโภคกล้าที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอย เพราะยังมีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้ออยู่มาก เพียงแต่ขณะนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวจะเลือกใช้จ่ายในสิ่งที่เห็นว่าคุ้มค่า
น.ส.วรลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่คาดหวังในตอนนี้ คือ อยากให้รัฐบาลนำโครงการช้อปดีมีคืน, ช้อปช่วยชาติ กลับมากระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคอีกครั้ง เพราะกลยุทธ์ดังกล่าว ถือเป็นยาแรงที่สามารถดึงให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งถ้าภาครัฐมีการเดินหน้ากระตุ้นกำลังซื้อตามที่เสนอ เชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4 กลับมาฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าจะยังไม่กลับมาดีเท่าเดิม แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศซบเซาและทำให้ภาพรวมค้าปลีกทรงตัว
สำหรับภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในสิ้นปี 2564 นี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่า จะยังคงอยู่ในสถานการณ์ติดลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกในบางพื้นที่ยังได้รับผลกระทบในเรื่องของสถานการณ์น้ำท่วม
ด้าน นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูนสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ กล่าวว่า หลังการประกาศคลายล็อคธุรกิจโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส สถาบันกวดวิชา ทางศูนย์การค้าในเครือก็พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากมองภาพรวมประเทศในช่วงไตรมาส 4 มีทิศทางที่ดี เนื่องจากภาครัฐมีแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ช้อปดีมีคืน หรือการจัดงานอีเวนต์ให้ล้อไปกับเทศกาลต่างๆ ในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีขึ้นดังกล่าว บริษัทคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ศูนย์การค้าในเครือของบริษัท น่าจะมีลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริการได้ไม่ต่ำกว่า 70-80%
ข่าวเด่น