กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดสถิติการค้าไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA ช่วง 9 เดือนปี 64 เงินสะพัดกว่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โต 25% ส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมขยายตัวถ้วนหน้า เชื่อ! การค้าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นได้อีกมากหลัง RCEP มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. ปีหน้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยข่าวดี มูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู มีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 (ม.ค. - ก.ย.) มีมูลค่าการค้ารวมถึง 253,212.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,908,717.25 ล้านบาท) (+25%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งเป็นการส่งออก มูลค่า 123,693.89 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,836,115.64 ล้านบาท) (+18%)
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการส่งออกในทุกตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ชิลี (+67%) นิวซีแลนด์ (+61%) อินเดีย (+58%) เกาหลีใต้ (+41%) เปรู (+40%) จีน (+27%) ญี่ปุ่น (+14%) ออสเตรเลีย (+10%) และฮ่องกง (+1%) นอกจากนี้ การส่งออกรวมไปกลุ่มประเทศอาเซียน มีการขยายตัวเช่นเดียวกัน (+13%) อาทิ ฟิลิปปินส์ (+39%) มาเลเซีย (+37%) ลาว (+20%) เวียดนาม (+15%) กัมพูชา (+14%) เมียนมา (+10%) และอินโดนีเซีย (+6%)
ในส่วนของการส่งออกรายกลุ่มสินค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยสินค้าเกษตรพื้นฐาน ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง รวมทั้งยังครองแชมป์เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียนอีกด้วย โดยการส่งออกมีมูลค่า 14,849.53 ล้านเหรียญสหรัฐ (460,732.90 ล้านบาท) (+33%) มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 75.30% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง เครื่องเทศและสมุนไพร และผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป ไทยส่งออก มูลค่า 8,877.80 ล้านเหรียญสหรัฐ (275,599.47 ล้านบาท) (+4%) มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 62.58% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร และไอศกรีม
ด้านสินค้าอุตสาหกรรม ไทยส่งออก มูลค่า 80,403.05 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,891,870.75 ล้านบาท) (+16%) มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 58.72% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
นางอรมน เพิ่มเติมว่า FTA เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าของไทยและเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศคู่ค้าสำคัญ และการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินแนวทางตามนโยบายและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์ เลิศไกร) โดยได้ผลักดันการเจรจาทั้ง FTA ฉบับใหม่ และการเจรจายกระดับและทบทวนความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออกให้สินค้าและการลงทุนของไทย โดยล่าสุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทยที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 จะช่วยให้การค้าและการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
ข่าวเด่น