กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ด้านการค้า หลังไทยรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพเอเปคปีหน้า ชี้! เป็นโอกาสผลักดันความร่วมมือเอเปค ทั้งการฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด การจัดทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิก หนุน SME ให้ความสำคัญกับ BCG พร้อมจัดสัมมนาใหญ่ระดมความเห็นทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภายหลังนิวซีแลนด์ส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในปี 2565 ให้ไทย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยประสานงานหลัก และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้า ซึ่งจะมีการประชุมที่สำคัญ 2 ระดับ คือ ระดับรัฐมนตรี และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่เทคนิค ตลอดปี 2565
นางอรมน กล่าวว่า การประชุมระดับรัฐมนตรี จะจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ในเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งจะเป็นโอกาสผลักดัน และขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปคในเรื่องที่สำคัญ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังยุคโควิด-19 การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) เอเชีย-แปซิฟิก ในบริบทการค้ายุคใหม่ และการผลักดันให้ผู้ประกอบการ และ SME ให้ความสำคัญกับหลักการ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
สำหรับการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และเจ้าหน้าที่เทคนิค จะมีการประชุมตลอดทั้งปีกว่า 10 ครั้ง ได้แก่ (1) การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI) 4 ครั้ง ซึ่งจะเป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติของสมาชิกเอเปค ในเรื่องการขยายการค้าการลงทุน ลดอุปสรรคทางการค้า และอํานวยความสะดวกทางการค้า การลงทุนในภูมิภาค (2) การประชุมกลุ่มการเปิดตลาด (Market Access Group: MAG) 3 ครั้ง และ (3) การประชุมกลุ่มบริการ (Group on Services: GOS) 3 ครั้ง
นางอรมน เสริมว่า กรมฯ ยังเตรียมจัดสัมมนาใหญ่ 2 งาน ในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้แก่ งานสัมมนา Symposium เพื่อระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต่อแผนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTA-AP ตามเป้าหมายโบกอร์ 1994 และวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 ของเอเปค ที่ต้องการเห็นการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สามารถขับเคลื่อนได้ในบริบทโลกใหม่ที่มีมาตรฐานสูงและครอบคลุมรอบด้าน โดยจะนำผลลัพธ์จากการสัมมนาเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าของเอเปคต่อไป และงานสัมมนา Symposium ของเอเปค เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการส่งเสริมให้ SME ดำเนินธุรกิจด้วยการสนับสนุน BCG โมเดล ซึ่งตรงกับวาระแห่งชาติของไทยที่สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในทุกมิติ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ความเห็นและแนวคิดที่ได้จากงานสัมมนาทั้ง 2 เวที จะช่วยขับเคลื่อนแนวคิด “Open Connect Balance” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกัน
ทั้งนี้ เอเปคเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยสมาชิกเอเปคเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่า 9.8 ล้านล้านบาท (315.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 71.9% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 5.1 ล้านล้านบาท (165 พันล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็น 71.2% ของการส่งออกรวมทั้งหมดของไทย และไทยนำเข้าจากเอเปค มูลค่า 4.7 ล้านล้านบาท (150.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็น 72.8% ของการนำเข้ารวมทั้งหมดของไท
สำหรับในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2564) การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่ารวม 8.8 ล้านล้านบาท (284.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 4.47 ล้านล้านบาท (144.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 17.9% และนำเข้าจากเอเปค มูลค่า 4.41 ล้านล้านบาท (140.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 28.2%
ข่าวเด่น