การตลาด
Scoop : ธุรกิจ ''อาหารสำเร็จรูป'' กางยุทธศาสตร์ ''ตอกย้ำแบรนด์-เพิ่มยอดขาย'' รับอานิสงส์ตลาดเติบโต


แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบในด้านของยอดขาย แต่ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มธุรกิจได้อานิสงส์ทางด้านบวกหนุนให้มียอดขายเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป” อย่างธุรกิจอาหารกระป๋อง ด้วยความสะดวกและสามารถเก็บรักษาได้นาน จึงทำให้ธุรกิจดังกล่าวได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
 

หนึ่งในผู้ประกอบการที่ออกมาเปิดเผยว่ามียอดขายเพิ่มขึ้น คือ แบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” ที่ออกมาระบุว่า ภาพรวมยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกธุรกิจปลากระป๋องของแบรนดปุ้มปุ้ย มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 8-10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคหันมาประกอบอาหารบริโภคเองที่บ้าน ซึ่งปลากระป๋องถือเป็นหนึ่งในอาหารที่ถูกเลือกสำหรับการประกอบอาหาร

นายไกรฤทธิ์ โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายปลากระป๋อง “ปุ้มปุ้ย” กล่าวว่า ตัวแปรที่ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือ การหันมาประกอบอาหารรับประทานเองในครอบครัว ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคไปปรุงเองที่บ้าน และจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งเลือกที่จะซื้อปลากระป๋องไปบริจาคให้กับผู้บระสบภัย ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้ภาพรวมตลาดปลากระป๋องประเภทซอสที่มีมูลค่ากว่า 8,000-9,000 ล้านบาท ในปีนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
 

สำหรับกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการในตลาดเลือกนำมาใช้ ยังคงเน้นไปที่การทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้า  และการสร้างแบรนด์สินค้าราคาถูก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งในส่วนของแบรนด์ปุ้มปุ้ย เน้นให้ความสำคัญในการสร้างแบรนด์สินค้า ด้วยการชูจุดขายในด้านของรสชาติ คุณภาพที่มีมาตรฐาน และราคาที่เข้าถึงง่าย ขณะเดียวกัน ก็จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มปลากระป๋องเท่านั้น  แต่รวมไปถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่าง หอยลายรสชาติใหม่  เช่น รสคั่วกลิ้ง ซึ่งอยู่ในหมวดสินค้ากระป๋อง เพื่อทำตลาดในช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ควบคู่ไปกับการทำตลาดด้วยการจัดโปรโมชั่นลดราคาในแต่ละช่องทางอย่างต่อเนื่อง

นายไกรฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการในตลาดปลากระป๋องเจอตอนนี้ คือ วัตถุดิบ อย่าง ปลาแมกเคอเรล ขาดตลาดมาตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะเป็นฤดูที่ชาวประมงเริ่มจับปลาได้และทยอยนำเข้ามา ซึ่งในส่วนของบริษัทก็ได้มีการเตรียมวัตถุดิบไว้อย่างเต็มที่ เพราะตอนนี้สินค้าในห้างกับร้านค้าก็ยังขาดส่งอยู่บ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวหันมาส่งผลิตภัณฑ์ประเภทซาร์ดีนทดแทน
 

นอกจากนี้ แบรนด์ปุ้มปุ้ย ยังเน้นการสร้างรายได้จากการได้รับสัมปทานการขายอาหาร-เครื่องดื่มบนรถไฟจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (มีนาคม 2563-มีนาคม 2566) ด้วยบริการอาหารหลากหลายรูปแบบ เช่น ข้าวสวยหอมมะลิ กับแกงมัสมั่นไก่ แกงฉู่ฉี่ปลา หอยลายผัดกระเทียม เป็นต้น ควบคู่กับปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ชุดอาหารให้มีความสะดวกและทันสมัยขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน แบรนด์ปุ้มปุ้ย ก็จะมีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ ด้วยการขยายแพลตฟอร์มทั้งในส่วนของมาร์เก็ตเพลซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์ จากปัจจุบันมีการจำหน่ายสินค้าผ่านลาซาด้า ช้อปปี้  และเจดี เซ็นทรัล โดยมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 5% จากยอดขายรวม

ด้าน บริษัท ไฮคิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องรายใหญ่ ก็ออกมาประกาศ 5 ปีนับจากนี้  ด้วยการยุทธศาสตร์ “One Home, One Roza” โดยการทำหน้าที่เชื่อมรสชาติความสุขของครอบครัวไทยผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีประโยชน์ และมีคุณภาพ

น.ส.เมย์ วังพัฒนมงคล กรรมการบริหาร บริษัท ไฮคิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจกลุ่มสินค้าอาหารสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ ไฮคิว และโรซ่า ครอบคลุม 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มอาหารกระป๋อง กลุ่มซอสต่างๆ และกลุ่มอาหารบรรจุซอง กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์ของตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน บริษัทได้มีการตั้งเป้าให้ทุกครัวเรือนไทยจะต้องมีสินค้าของโรซ่าอย่างน้อยบ้านละ 1 ชิ้น ครอบคลุม 80% ของครัวเรือนในประเทศภายในปี 2568 ภายใต้ 2  กลยุทธ์หลัก คือ  Market Penetration และ Innovative Product Development

 
สำหรับกลยุทธ์ Market Penetration จะเน้นไปที่การทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และการพัฒนาช่องทางการขายสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีการเติบโตสูง และมาร์เก็ตเพลสยอดนิยมที่เป็นเว็บไซต์สื่อกลางในการซื้อขายสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคทุกครัวเรือนได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์โรซ่าได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่

ขณะที่กลยุทธ์  Innovative Product Development จะเน้นไปที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าใหม่ที่มีนวัตกรรมเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม อาทิ ซอสปรุงสำเร็จ อาหารพร้อมทาน เป็นต้น โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องปีละ 5-10 รายการ

น.ส.เมย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแผนการดำเนินงานปี 2564 นี้ บริษัทจะเดินหน้าทำตลาดอย่างเต็มที่ภายใต้งบกว่า 100 ล้านบาท เพื่อตอกย้ำการเป็น “Roza Family Food” หรือแบรนด์ที่มีสินค้าหลากหลาย และครอบคลุม ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนในครอบครัว ล่าสุดจัดสรรงบการตลาด 50 ล้านบาท เปิดตัวแคมเปญใหญ่แห่งปี “50 ปี โรซ่า แฟมิลี่ฟู้ด เชื่อมรสชาติความสุขของครอบครัว” ภายใต้แนวคิด “Reconnecting Family Bonds” เพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวด้วยการทำให้ “อาหารบ้านบ้าน” เป็นศูนย์กลางของบ้าน  ตอกย้ำยุทธศาสตร์ที่วางไว้ 5 ปี ภายใต้เป้าหมาย “One Home, One Roza”

LastUpdate 27/11/2564 21:05:35 โดย : Admin
06-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 6, 2024, 12:49 pm