ธ.ก.ส. หนุนเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความมั่นคงทางรายได้ผ่านโครงการ 1 สาขา สร้างอาชีพสู้วิกฤติโควิด-19 โดยส่งเสริมองค์ความรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและจากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ การประสานภาคีเครือข่ายในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและการบริหารจัดการเพื่อต่อยอดการสร้างอาชีพและกิจกรรมทางธุรกิจ ควบคู่การเติมสินเชื่อ ตั้งเป้าส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร แรงงานคืนถิ่น และบัณฑิตจบใหม่จำนวนกว่า 6 หมื่นราย
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเกิดภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในมิติด้านการดำเนินชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ New Normal มิติด้านรายได้ที่ลดลงจากปัญหาการเลิกจ้างงาน ผลผลิตการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวข้ามวิกฤต ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ธ.ก.ส. ได้ดำเนิน “โครงการ 1 สาขา สร้างอาชีพสู้วิกฤติ โควิด-19” โดยให้ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศกว่า 1,200 สาขา ค้นหาเกษตรกรลูกค้า บุคคลในครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ผู้ที่ลงทะเบียนขอสินเชื่อโควิด-19 แรงงานคืนถิ่น บัณฑิตจบใหม่ที่ยังว่างงานและสนใจที่จะนำความรู้มาพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงกลุ่มบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพลูกค้าเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น เพื่อเข้าร่วมการพัฒนา ฟื้นฟู และสร้างอาชีพใหม่ ๆ โดยให้มีการส่งเสริมอาชีพอย่างน้อย 1 อาชีพต่อ 1 สาขา เป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 10,000 ราย ภายในปี 2564 และอีก 50,000 ราย ในปี 2565
สำหรับการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การสนับสนุนการพึ่งตนเอง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ผ่านระบบ E-Learning หรือแหล่งเรียนรู้ เช่น ชุมชนต้นแบบฯ / ศูนย์เรียนรู้ฯ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น โดยนำความองค์ความรู้ทักษะ มาเป็นแนวทางปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฏีใหม่ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง และพึ่งพาซึ่งกันและกันในการต่อยอดการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ สร้างกิจกรรมทางธุรกิจ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมจัดทำแผนชีวิต หรือแผนครัวเรือน และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับครัวเรือน เช่น โครงการ 459 โครงการเกษตรกรรมยั่งยืน (เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ) เป็นต้น
การสนับสนุนการสร้างอาชีพ โดยยึดหลักการรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วมของสมาชิก การจัดทำแผนพัฒนาของกลุ่ม (แผนอาชีพ หรือแผนธุรกิจ) พร้อมกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ จากนั้นต่อยอดการพัฒนาสู่โครงการอื่น ๆ อาทิ โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย โครงการเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer โครงการสนับสนุนชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่มจากไม้ตลอดห่วงโซ่การผลิต การปลูกพืชทางเลือกใหม่ เป็นต้น โดยการพัฒนาเสริมทักษะ ด้านการผลิต การจัดการตลาด การสร้างกิจกรรมทางธุรกิจ (การผลิต การแปรรูป การรวบรวม การบริการ) และการประสานภาคีเครือข่ายในการสนับสนุนองค์ความรู้ ปัจจัย การผลิต เครื่องจักร และเทคโนโลยี
นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อมในการพัฒนาช่องทางการตลาด Online ที่เชื่อมโยงไปสู่ตลาด Social Commerce และตลาด Offline รองรับการจำหน่ายผลผลิตทั้งภายในและภายนอกชุมชน เช่น ตลาดนัดของดีวิถีชุมชน ส่วนงานราชการ เรือนจำ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน PTTOR เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือค่าลงทุน อาทิ สินเชื่อร่วมกลุ่ม สินเชื่อสู้ภัยโควิด สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน เป็นต้น
โครงการดังกล่าว นอกจากมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย กลุ่มผู้เปราะบางที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ มีความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งพาตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นลำดับแรกแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะต่อยอดในการสร้างอาชีพให้กับแรงงานคืนถิ่น บัณฑิตจบใหม่ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ด้านเทคโนโลยี มาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร ทดแทนกลุ่มเกษตรกรที่มีอายุมาก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ นายสมเกียรติกล่าว
ข่าวเด่น