ไอที
AIS ขยายผลความสำเร็จ SDG Lab สานต่อความร่วมมือ ม.ธรรมศาสตร์ สร้างความยั่งยืน ดึงศักยภาพ AIS 5G พร้อมให้บริการ ''รถ EV ไร้คนขับอัจฉริยะ''


หลังจากที่ AIS และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย “SDG Lab by Thammasat & AIS” ไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ของการนำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาพัฒนาเพื่อสร้างรากฐานด้านความยั่งยืน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตจนสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นสังคมเมืองแบบ Smart City ในที่สุด โดยหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ผ่านระบบการขนส่งต้นแบบอัจฉริยะด้วย “รถไฟฟ้าไร้คนขับ” ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ในการขับเคลื่อนบนโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G พร้อมให้บริการทดลองรับ-ส่ง ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้นักศึกษา-บุคลากร สัมผัสประสบการณ์โลกอนาคตได้ก่อนใคร


 
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS อธิบายว่า “สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SDG Lab by Thammasat & AIS นับเป็นเครื่องยืนยันว่าเรามุ่งมั่นเดินตามภารกิจในการส่งมอบบริการดิจิทัลเพื่อยกระดับวิถีชีวิตของผู้คน ด้วยการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลง และทำให้บริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการใช้ชีวิตยังคงสามารถเติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”
 
 

โดยที่ผ่านมาทีมวิศวกรได้ทำงานเพื่อตอบวัตถุประสงค์ในด้านต่างๆ ของ SDG Lab อย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบฟาร์มอัจฉริยะ Smart Farm ใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การพัฒนาระบบการขนส่ง และระบบการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ให้สอดรับกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ทำให้วันนี้เราประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาพัฒนาการระบบขนส่งโดยสารสาธารณะด้วยรถไฟฟ้าไร้คนขับ หรือ Autonomous EV Car ที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัยกับผู้โดยสารและผู้คนบนท้องถนนสูงสุดตามมาตรฐานสากล บนเครือข่าย AIS 5G ที่มีความเร็ว แรงและความหน่วงที่ต่ำ ทำให้การขับเคลื่อนของตัวรถมีความเสถียรรองรับการขนส่งภายในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
 
 

ระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้คนขับ Autonomous EV Car เป็นการนำรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ขนาด 7 ที่นั่ง มาติดตั้งอุปกรณ์ Sensors and Computing Hardware ทำให้ตัวรถสามารถใช้ Software ควบคุมการขับเคลื่อนได้อย่างอัตโนมัติ ได้ถึง 2 รูปแบบคือ
 
 

Auto-Pilot mode ขับเคลื่อนตามเส้นทางที่กำหนดแบบอัตโนมัติ ผ่านเครือข่าย AIS 5G  ที่จะมีการจอดรับ-ส่ง ผู้โดยสารตามจุดต่างๆ ที่มีการทดลองและกำหนดไว้ แล้ว โดยระบบการทำงานของเซนเซอร์จะเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในระยะการเดินรถรอบทิศทาง
 
 
 
Virtual Control mode ขับเคลื่อนผ่านการควบคุมระยะไกล ซึ่งจะสามารถบังคับรถโดยสารไฟฟ้าบนเครื่อง ซิมูเลเตอร์ (Simulator) ที่สตรีมจากกล้อง 360 องศา ผ่านเครือข่าย AIS 5G โดยระบบ Driver Assistance Systems จะช่วยตรวจสอบความปลอดภัยในการเดินรถอย่างสมบูรณ์แบบ
 
 
รศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิต ด้านคุณภาพชีวิต  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า “ด้วยเป้าหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำงานร่วมภาคเอกชนที่หลากหลายในการพัฒนาสู่การเป็น Smart
University มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและความยั่งยืน สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าไร้คนขับในครั้งนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยเฉพาะการสร้างระบบขนส่งภายในมาหาวิทยาลัย อำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาและบุคลากร ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้เป้าหมายของมหาวิทยาลัยในการสร้างเมืองอัจฉริยะเกิดได้ในไม่ช้าอย่างแน่นอน”

 
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “ระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่เราทำงานร่วมกับ AIS เดินหน้าภารกิจของ SDG Lab by Thammasat & AIS  ในการสร้างพื้นที่นวัตกรรมเพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ทั้งด้านการใช้ชีวิต ด้านสังคม หรือแม้แต่ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนเกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในวันนี้อย่างระบบการขนส่งต้นแบบอัจฉริยะ รถไฟฟ้าไร้คนขับที่ทำงานบนเครือข่าย 5G โดยใช้นวัตกรรมจากพลังงานไฟฟ้า ที่จะมาวิ่งรับ-ส่ง เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรของภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยได้โดยสารทดลองใช้สัมผัสประสบการณ์ของเทคโนโลยีไปพร้อมกัน”
 
 
 
 

นายวสิษฐ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า “ด้วยศักยภาพของ 5G สามารถเชื่อมต่อและสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยได้อีกหลายมิติ โดยรถ EV ไร้คนขับที่ทดลองใช้งานจริงในระบบขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในกำหนดเทรนด์โลกอนาคตในการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องยนตร์ขับเคลื่อนการบริหารจัดการเมือง หรือ พื้นที่ต่างๆ ในประเทศให้เดินหน้าสู่การเป็น Smart City สมบูรณ์แบบได้ในที่สุด”

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ธ.ค. 2564 เวลา : 09:54:40
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:30 am