แบงก์-นอนแบงก์
SAM เตรียมออกหุ้นกู้ 5 พันล้าน ปี 65 รับซื้อหนี้แบงก์มาบริหาร แย้มแบงก์ใหญ่ทาบทามตั้ง ''บริษัทร่วมทุน'' บริหารหนี้


นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานในปีหน้า ว่า SAM มีแผนจะออกหุ้นกู้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรตติ้งในระดับ AA+ แนวโน้ม Stable ซึ่งคาดว่าจะออกหุ้นกู้ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2565 เพื่อรองรับแผนการซื้อหนี้เสียมาบริหารจัดการ โดยตั้งเป้าจะรับซื้อหนี้เสียจากธนาคารพาณิชย์เป็นอันดับที่ 1 และ 2 เหมือนเดิม จากปัจจุบัน SAM ซื้อหนี้เสียมาบริหารจัดการอยู่อันดับที่ 2 ในตลาด โดยมี บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เป็นอันดับ 1 
 

“วงเงินออกหุ้นกู้ 5,000 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ หากจำเป็นก็สามารถขยายวงเงินเพิ่มเติมได้อีก”นายธรัฐพรระบุ

ทั้งนี้ นายธรัฐพรมองว่า แนวโน้มการตัดหนี้เสีย หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จะมีการตัดเทขายหนี้เสีย ออกมาประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงสุดในรอบปีนี้ โดย SAM พร้อมที่จะเข้าไปประมูลเพื่อนำหนี้เสียมาบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงโค้งท้ายของปี คาดว่าการแข่งขันจะรุนแรง เนื่องจากในรอบปีนี้ที่ผ่านมา การตัดขายหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างน้อย เพียง 5- 6 หมื่นล้านบาท จากช่วงก่อนเกิด COVID-19 ธนาคารพาณิชย์จะนำหนี้เสียออกมาขายในตลาดประมาณ 1 แสนล้านบาท
 

เหตุผลที่ปีนี้ธนาคารพาณิชย์นำหนี้เสียออกมาขายน้อย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้นและมีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้-ลดดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ ทำให้ช่วยชะลอการเป็นหนี้เสีย
 

“คาดว่าตัวเลขการรับซื้อหนี้เสียมาบริหารจัดการทั้งปีนี้  SAM น่าจะรับซื้อหนี้เสียโดยเข้าไปประมูล มาบริหารจัดการได้ประมาณ 10-15% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 - 6,000 ล้านบาท” นายธรัฐพร กล่าว

 
อย่างไรก็ดี นายธรัฐพร มองว่า ปีหน้าคงต้องจับตาทิศทางการเทขายหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ว่าจะตัดออกมาขายจำนวนเท่าใด เพราะบางส่วนธนาคารพาณิชย์ก็ตั้งบริษัทลูกมาบริหารสินทรัพย์เอง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย รวมถึงต้องจับตาความชัดเจนในเรื่องการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินและบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อรับโอนหนี้เสียมาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นในภาพรวม ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาสแรกปีหน้า
 

“ภาพความร่วมมือ ณ ขณะนี้ เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในการที่ธนาคารพาณิชย์ อย่างน้อย 2 แห่ง คือ ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย เริ่มมองหาพันธมิตรที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหนี้เสีย มาร่วมกันบริหารหนี้ในลักษณะ Joint Venture ขยายความร่วมมือระหว่างกัน”กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท กล่าว
 
 

นายธรัฐพร ยังกล่าวต่อไปว่า ในอนาคตอันใกล้คงต้องจับตาดู”โมเดล” ความร่วมมือในการบริหารจัดการหนี้เสีย ซึ่งอาจจะมีรูปแบบอื่นเกิดขึ้นอีก โดยอาจจะเป็นการบริหารจัดการหนี้เสียเฉพาะส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น บริหารจัดการหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือบริหารจัดการหนี้เสียที่มีหลักประกัน รวมถึงขยายไปสู่หนี้เสียที่ไม่มีหลักประกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของ SAM ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารหนี้เสียมายาวนานกว่า 20 ปี SAM พร้อมที่จะก้าวไปสู่โมเดลการทำธุรกิจร่วมทุนกับสถาบันการเงิน ซึ่ง ณ ขณะนี้ ต้องยอมรับว่า SAM อยู่ระหว่างพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์หลายรายในการทำโมเดลธุรกิจร่วมทุน
 

“แนวโน้มการเกิด NPL ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ฉะนั้นโอกาสในการขยายธุรกิจจึงคงมีอยู่ เพียงแต่จะเป็นในรูปแบบใด 1.ธนาคารพาณิชย์ตัดขายหนี้เสียออกสู่ระบบ เพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าประมูลซื้อหนี้เสียไปบริหารจัดการเอง หรือ 2.ธนาคารพาณิชย์ตั้งบริษัทร่วมทุน Joint Venture ขึ้นมาเพื่อบริหารหนี้เสียร่วมกัน หรือ 3.ผสมผสาน ทั้งตัดขายหนี้ส่วนหนึ่ง และตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารหนี้บางส่วน”นายธรัฐพรกล่าว
 
 
กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท กล่าวต่อไปว่า ทิศทางการเกิด NPL ในประเทศไทย ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง และน่าจะมีมากขึ้นเมื่อหมดมาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่ปัจจุบันมีสูงถึง 5 - 6 แสนล้านบาท จะไหลมาเป็นหนี้ NPL เท่าใด และจะสามารถฟื้นกลับมาเป็นหนี้ปกติที่ดีได้แค่ไหน โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่า NPLในปีหน้า 2565 จะมากกว่าระดับ 6 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และอาจกลับไปสู่ระดับ 1 แสนล้านบาทในปี 2566 ซึ่ง SAM ตั้งเป้าจะเข้าไปรับซื้อหนี้เสียมาบริหารประมาณ 10-15% ของหนี้ที่ตัดขายทั้งระบบ
 

สำหรับผลการดำเนินงาน ณ เดือนตุลาคม 2564 นายธรัฐพร กล่าวว่า SAM สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้า NPL ไปแล้วจำนวน 54,899 ราย คิดเป็นมูลค่าตามบัญชี 341,448 ล้านบาท และจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย NPA  ได้ทั้งสิ้น 10,496 รายการ ราคาประเมินทรัพย์ 51,914 ล้านบาท  ด้านการประมูลซื้อสินทรัพย์เพื่อเพิ่มขนาดพอร์ต SAM สามารถซื้อสินทรัพย์ได้ จำนวนรวมทั้งสิ้น 16,569 ราย มูลค่าตามบัญชี 113,621 ล้านบาท  ขณะที่คลินิกแก้หนี้ มีจำนวนลูกค้าที่ผ่านคุณสมบัติและสมัครเข้าโครงการได้รวมทั้งสิ้น 68,071 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 5,163 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2543 SAM สามารถนำส่งเงินคืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) ไปแล้วเป็นจำนวนเงินประมาณ  255,000 ล้านบาท  
 
 
นายธรัฐพรกล่าวเพิ่มเติมว่า รู้สึกยินดีที่ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ SAM องค์กรที่มีภารกิจยิ่งใหญ่และเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศ นับว่าเป็นความท้าทายที่สุดที่ได้เข้ามาบริหารงานในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนจำนวนมากขาดรายได้และมีปัญหาการชำระหนี้ SAM ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ควบคู่การสนองนโยบายและมาตรการภาครัฐด้วยการดำเนินงานเชิงรุก  โดยยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้เป็นสำคัญ
 
 
สำหรับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) SAM มีนโยบายมุ่งเน้นให้มีการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นอันดับแรก โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นสำคัญ รวมถึงร่วมปรึกษาหารือให้ได้ข้อยุติภายใต้แนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หรือดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยที่ผ่านมา SAM จัดโครงการ “แบ่งเบาภาระลูกค้าในภาวะวิกฤตโควิดระบาด ระลอก 3 ” เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนพิเศษ  รวมทั้งนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง ปัจจุบัน SAM มีจำนวนลูกหนี้ที่อยุ่ภายใต้การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 20,727 ราย  มูลค่าตามบัญชี 354,320 ล้านบาท
 
ด้านการจำหน่ายทรัพย์สินทรัพย์สินรอการขาย (NPA) SAM มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการนำทรัพย์สินที่ทิ้งร้างมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งคืนทรัพย์สินเหล่านี้กลับสู่ระบบ และนำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งการประมูลและการเสนอซื้อโดยตรง รวมทั้งโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่น่าสนใจอีกมากมาย ปัจจุบัน SAM มีทรัพย์สินรอการขายหลากหลายประเภทในทำเลดีทั่วไทย ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ ที่ดินเปล่าและทรัพย์เพื่อการลงทุน ฯลฯ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น ประมาณ 4,000 รายการ  มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท
 
 
นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว  ในปี 2560 SAM ยังได้รับมอบหมายภารกิจเพิ่มเติมในการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยประเภทลุกหนี้ที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน (Non-Bank) รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง ที่ค้างจ่ายหรือไม่ได้จ่ายหนี้บัตรเกินกว่า 90 วัน ภายใต้โครงการ “คลินิกแก้หนี้ by SAM” โดยล่าสุด “คลินิกแก้หนี้ by SAM” ได้ขยายเกณฑ์คุณสมบัติผู้เป็นหนี้เสียที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจาก เดิม ที่ต้องมีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็น ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่เป็นหนี้เสียบัตรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1. การต่ออายุมาตรการยาแรงระยะที่ 3 “จ่ายเท่าที่ไหว” ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564  โดยลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% (เงื่อนไขเป็นไปตามที่โครงการกำหนด)  2. การปรับเกณฑ์ด้านอายุจากเดิมไม่เกิน 65 ปีเป็นอายุ  70 ปี โดยนับรวมระยะเวลาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และมาตรการที่ 3.การปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิม 4-7% เป็นอัตราเดียว (Single Rate)  ที่ 5%

LastUpdate 02/12/2564 10:20:11 โดย : Admin
23-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 23, 2025, 8:25 pm