ถ้าต้องเลือกออมและลงทุนเพื่อประหยัดภาษี มีทางเลือกผ่านกองทุนรวมอยู่ 2 ประเภทที่คุ้นหูและหลายคนรู้จักกันดี คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีหลายคนที่ลังเลว่ากองทุนรวมแบบไหนที่ใช่และเหมาะกับตัวเอง จึงมีตัวเปรียบเทียบและคำแนะนำเบื้องต้นมาให้พิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน
ความเหมือนและความแตกต่างของ RMF และ SSF
ความเหมือน
นโยบายการลงทุน RMF และSSF ลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนจำนวนเงินขั้นต่ำในการลงทุน ไม่มีกำหนดทั้งคู่เหมือนกัน และเปอร์เซ็นต์วงเงินลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน
ความแตกต่าง
ในส่วนของวงเงินสูงสุดที่ซื้อได้ และสิทธิลดหย่อนภาษีนั้น RMF มีข้อกำหนดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ ต้องรวมกับวงเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนรวมเพื่อการออม
ขณะที่SSF กำหนดไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับวงเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
ผู้ลงทุนสามารถลงทุนซื้อ RMF ได้ตลอด แต่ SSF ผู้ลงทุนสามารถซื้อถึงปี 2567 ส่วนนโยบายจ่ายเงินปันผล RMF ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ขณะที่ SSF จ่ายเงินปันผลได้ แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายจ่ายเงินปันผลของแต่ละกองทุน และอย่าลืมว่าเมื่อได้รับเงินปันผลต้องเสียภาษีด้วย
ด้านความต่อเนื่องของการลงทุน RMF ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถหยุดได้ปีเว้นปี ส่วน SSF ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องก็ได้ ขณะที่เงื่อนไขจำนวนปีที่ถือครองของ RMF ต้องลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี (นับจำนวนปีแบบวันชนวัน) และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ของ SSF นั้น กำหนดให้ลงทุน 10 ปี นับจำนวนปีแบบวันชนวัน โดยนับแยกเงินลงทุนแต่ละก้อนที่ลงทุนด้วย
ดังนั้นแล้ว RMF และ SSF เหมาะกับใครบ้าง
เหมาะกับคุณ ถ้าหากคุณต้องการวางแผนลงทุนพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในส่วน RMF และ SSF สามารถนำเงินลงทุนหักลดหย่อนภาษีได้ โดย RMF เงินลงทุนต้องเป็นเงินเย็น เพราะต้องถือยาวจนถึงอายุ 55 ปี ขณะที่ SSF นั้น เงินลงทุนต้องเป็นเงินเย็นเช่นกัน และเป็นเงินเย็นที่จะไม่ใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังเหมาะกับคนที่ต้องการเก็บเงินวางแผนเกษียณ เพราะ RMF มีวัตถุประสงค์จัดตั้งมาให้ผู้มีอาชีพอิสระไม่มีนายจ้าง หรือผู้ที่ต้องการวางแผนเกษียณสามารถลงทุนเก็บออมเพื่อเกษียณโดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วน SSF คุณสามารถใช้เป็นตัวช่วยวางแผนเกษียณได้
หากคุณต้องการรับผลตอบแทนสม่ำเสมอชอบรับเงินปันผลระหว่างการลงทุน การลงทุนใน RMF ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพราะต้องการให้คุณเก็บออมเงินลงทุนและผลตอบแทนไว้ใช้ในยามเกษียณ ส่วน SSF มีกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพื่อเปิดโอกาสให้คุณได้รับผลตอบแทนในช่วงเวลาที่ลงทุน แต่เงินปันผลต้องเสียภาษี
ถ้าคุณมีอาชีพอิสระและรายได้ไม่แน่นอนหรืออยากลงทุนแค่ปีนี้ปีเดียว RMF ไม่เหมาะ เพราะต้องลงทุนต่อเนื่อง แต่ SSF เหมาะกับคนที่มีอาชีพอิสระ เพราะลงทุนปีต่อปี ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่อง
แล้วถ้าคุณเป็นคนอายุน้อยต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นหลัก แต่ไม่อยากถือครองนาน RMF ไม่เหมาะกับคุณแน่ เพราะคุณต้องลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี แต่ SSF ยังเหมาะ เพราะเงินลงทุนแต่ละปี ต้องถือครองยาว 10 ปี แต่ไม่มีเงื่อนไขต้องถือครองจนถึงอายุ 55 ปี
หรือถ้าคุณเป็นคนอายุน้อย แต่ต้องการเริ่มเก็บเงินเพื่อวางแผนเกษียณ RMF และ SSF ยังเหมาะกับคุณ เพราะช่วยสร้างวินัยในการออม พร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี และยิ่งเริ่มลงทุนเร็วยิ่งดีกับคุณ
ถ้าคุณเป็นคนอายุใกล้เกษียณ เช่น อายุ 50 ปี อายุ 55 ปี จะเกษียณในอีก 5 - 10 ปีข้างหน้า RMF จะเหมาะ เพราะ RMF จะถือครองสั้นกว่า คือลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี จนถึงอายุครบ 55 ปี และเมื่อครบเงื่อนไขการลงทุนแล้ว สามารถขายคืนหน่วยลงทุนใน RMF ได้ทั้งหมดทุกก้อน เพื่อนำมาใช้ในวัยเกษียณ หรือจะเลือกถือต่อก็ทำได้ แต่ SSF ดูจะไม่เหมาะ เพราะเงินลงทุนในแต่ละปี ต้องถือยาว 10 ปี เช่น ปีนี้อายุ 55 ปี ซื้อ SSF ปีนี้ก็ต้องถือยาวจนอายุ 65 ปี และถ้าปีต่อมาซื้ออีกตอนอายุ 56 ปี ก็ต้องถือยาวจนอายุ 66 ปี
และสุดท้ายถ้าคุณเป็นคนเกษียณแล้ว แต่ยังมีรายได้และอยากใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เช่นไปทำงานเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น RMF แม้จะเหมาะกับคุณ แต่ต้องถามว่าจะมีรายได้ที่ต้องเสียภาษี (รายได้พึงประเมิน) ต่อเนื่อง 5 ปีหรือไม่ เพราะถ้าซื้อแล้วต้องลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี แต่มีรายได้พึงประเมินแค่ปีเดียว ก็ไม่เหมาะที่จะลงทุน
ส่วน SSF ก็เหมาะกับคุณเช่นกัน แต่ต้องถามว่า เงินนี้เป็นเงินเย็นและจะไม่ใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือไม่ ดังนั้น ถ้าการทำงานหลังเกษียณ เพื่อนำรายได้มาใช้ในชีวิตประจำวันในแต่ละปี ก็ไม่เหมาะที่จะลงทุน
ทั้งนี้ ในการวางแผนภาษี สิ่งสำคัญที่สุด คือ อย่าลืมคำนวณวงเงินสูงสุดที่ซื้อได้ และเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตาม เพราะถ้าผิดเงื่อนไขนอกจากต้องคืนภาษี ยังมีเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และอาจต้องเสียภาษีกำไรจากการขายอีกด้วย
ดังนั้น เงินลงทุนควรเป็นเงินเย็น ที่วางแผนเก็บออมแยกจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเรียบร้อยแล้ว
ข่าวเด่น