คริปโตเคอเรนซี่
Scoop : ''Blockchain'' เบื้องหลังการสร้างมูลค่าให้ ''Digital Asset''


สัปดาห์ก่อนเราได้ปูพื้นฐาน เริ่มต้นทำความรู้จักกับ Digital Asset ที่มาพร้อมกับแนวคิดในการตัดตัวกลาง ผู้ซึ่งควบคุมดูแลสินทรัพย์ของเราโดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ดังตัวอย่างที่ยกมาอย่างการเกิดขึ้นของ Bitcoin สกุลเงินดิจิทัล หรือ Crytocurrency สกุลแรกของโลก ที่แทนที่ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Blockchain” โดยเป็นอิสระจากการถูกควบคุมทั้งจากธนาคารและรัฐบาล ซึ่ง Concept ของ Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลเองนั้น ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียง Crytocurency แต่สามารถเป็นสินทรัพย์อะไรก็ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีของ Blockchain แปลงสินทรัพย์ที่เราคิดว่ามีมูลค่าให้มีมูลค่าขึ้นมาบนโลกดิจิทัลได้ อาจจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์เพลง งานศิลปะ หรือจะเป็นโฉนดที่ดินก็ย่อมได้

 
  
 
-Blockchain ทำงานอย่างไร?

พื้นฐานของ Blockchain คือ ฐานข้อมูลที่มีลักษณะการเก็บเป็นกล่อง แต่ละกล่องมีการอ้างอิงกันเป็นสายโซ่ ลองจินตนาการเป็นภาพตามดูว่ามันคือการจัดเก็บข้อมูล ที่จะกระจายการจัดเก็บข้อมูลนั้นไปยังคนหลายๆ คนที่อยู่ในระบบเดียวกัน โดยทุกคนจะถือชุดข้อมูลที่เหมือนกัน สามารถตรวจสอบกันเองได้เสมอ ปลอมแปลงได้ยาก ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลแบบนี้ เป็นการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หรือแบบ “Decentralized” แทนที่จากระบบรวมศูนย์ หรือแบบ “Centralized” ที่จะมีองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมว่าน่าเชื่อถือในเรื่องนั้นๆ เป็นตัวกลางที่จัดเก็บและจัดการทรัพย์สินและข้อมูลของเรา ซึ่งเป็นระบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน 

ตัวอย่างเช่นธนาคารที่เคยได้กล่าวไป ที่จะเก็บบัญชีของทุกคนไว้ เวลาเราโอนเงิน หรือทำธุรกรรมต่างๆ ธนาคารก็เป็นคน Update บัญชี หักเงินคนโอน แล้วบอกกับผู้รับว่ามีเงินเข้าเรียบร้อยแล้ว แต่หากเป็นการจัดเก็บข้อมูลด้วย “Blockchain” ก็เหมือนกับคนในระบบทุกคนช่วยกันจัดเก็บบัญชี โดยทุกคนจะมีข้อมูลบัญชีนี้เหมือนกันทั้งหมด หากมีกรณีอย่าง นาวสาว A โอนเงิน 1,000 บาท ให้นาย B แล้วนาย B แก้ข้อมูลบัญชีตัวเองว่ายังไม่ได้รับก็จะเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่มีใครเชื่อแล้ว เพราะทุกคนได้ทำการจดลงไปตรงกันว่า นาวสาว A ได้โอนเงิน 1,000 บาท ให้นาย B เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การทำระบบเช่นนี้ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารมาจัดการข้อมูลบัญชีเราอีกต่อไป
 
 
ในส่วนกลไกของการเก็บข้อมูลของ Blockchain นั้น จะเป็นการเก็บข้อมูลที่ข้อมูล 1 ชุด จะถือว่าเป็น 1 กล่อง และชุดข้อมูลในแต่ละกล่องจะมีการอ้างอิงชุดข้อมูลเก่าของกล่องก่อนหน้าเรียงต่อกันเป็นลูกโซ่ โดยในแต่ละกล่องนอกจากเราจะเก็บชุดข้อมูลเอาไว้ จะยังมีรหัสประจำของกล่อง หรือที่เรียกว่า “ค่า Hash” เป็นตัวที่ทำให้ระบบของ Blockchain ปลอดภัยจากการ Hack หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูล โดยค่า Hash จะเป็น Code เฉพาะของชุดข้อมูลแต่ละชุด กล่าวคือ Blockchain จะทำการแปลงข้อมูลในกล่องนั้นๆ ที่เป็นภาษาของมนุษย์ปกติให้เป็น Code ลับเฉพาะที่มีลักษณะเป็นตัวเลขผสมตัวอักษรภาษาอังกฤษยาวๆ 
 
ตัวอย่างการใช้ Blockchain ในการเก็บข้อมูลเช่น สมมติว่านางสาว A จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากคณะวารสารศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี ก็จะถูกเข้ารหัส Hash ในชุดหนึ่งอยู่ในกล่องๆ หนึ่ง เคยทำงานอยู่ที่บริษัทเอเจนซี่โฆษณาบริษัท A ในฝ่าย Creative เป็นระยะเวลา 2 ปี ข้อมูลนี้ก็จะถูกเข้ารหัส Hash อีกชุดหนึ่ง แปลว่าในทุกๆ กล่องจะมีค่า Hash เฉพาะตัวของข้อมูลชุดนั้นๆ และความพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยมาก นั่นก็คือ ข้อมูลในแต่ละกล่อง จะบันทึกค่า Hash ของข้อมูลก่อนหน้าเข้ามาในกล่องด้วย ข้อมูลทั้งหมดจึงเชื่อมต่อกันเป็นโซ่ หากนางสาว A  เกิดอยากจะสมัครงานใหม่ที่ธนาคารโดยมีเงื่อนไขว่าต้องจบจากคณะบัญชี แล้วนางสาว A จะทำการแก้ไขข้อมูลการศึกษาของตัวเองนั้นจะไม่สามารถทำได้ เพราะค่า Hash ของกล่องที่บรรจุข้อมูลการศึกษาของนางสาว A จะเปลี่ยนไป แล้วการแสดงผลของข้อมูลในกล่องถัดๆ ไป ก็จะไม่สามารถเชื่อมโยงกับกล่องก่อนหน้านั้นได้ เพราะฉะนั้นคนในระบบจะเห็นว่าข้อมูลเปลี่ยนไป ค่า Hash ไม่ตรงกับคนอื่น ข้อมูลที่นางสาว A แก้ จะไม่น่าเชื่อถือและระบบ Blockchain ก็จะไม่ยอมรับชุดข้อมูลนี้ 

จะเห็นได้ว่า กลไกการทำงานของ Blockchain ทำให้การปลอมแปลงข้อมูลเพียงจุดเดียวไม่สามารถทำได้ เพราะข้อมูลนั้นถูกอ้างอิงจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่ แต่ถึงแม้จะมีความปลอดภัยสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนในระบบจะวางแผนร่วมมือกันโกงระบบไม่ได้ Blockchain จึงมีกลไกอีกอย่างคือให้ทุกคนมีมติเอกฉันท์ หรือที่เรียกว่า “Consensus” ว่าข้อมูลที่กำลังบันทึกบน Blockchain นั้นถูกต้อง และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าทุกคนช่วยตรวจสอบข้อมูลอย่างเที่ยงธรรมและไม่มีการร่วมมือกันโกงระบบ 

นอกจากนี้ การแปลงสินทรัพย์ให้เป็น Digital Asset ด้วย Blockchain จะยังมีการใช้ “Smart Contract” เป็นการกำหนดเงื่อนไข หรือ ตกลงการกระทำเหล่านั้น มาเขียนลงเป็น Code และนำ Code นั้นเก็บลงในกล่องของ Blockchain เมื่อใดก็ตามที่เงื่อนไขทั้งหมดตามที่เขียนไว้เป็นจริงก็จะมีการกระทำที่ต่อเนื่องตาม Code ที่เขียนเอาไว้เช่นกัน และเงื่อนไข หรือ “Smart Contract” ที่เขียนเอาไว้แล้วจะไม่มีใครแก้ไขอะไรได้อีก เช่น งานศิลปะของ A ที่นำไปตั้งขายเป็น Digital Asset โดย A ตั้งขายเอาไว้ที่ 100,000 บาท หาก B ทำการโอนเงิน 100,000 บาท ให้ A แล้ว A จะโอนสิทธิความเป็นเจ้าของให้กับ B เงื่อนไขที่ “B ทำการโอนเงิน 100,000 บาทให้ A” ระบบจะเช็คว่าได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง ส่วน “A จะโอนสิทธิความเป็นเจ้าของให้กับ B” จะเป็นการกระทำโดยอัตโนมัติที่เขียนไว้ใน Code ฉะนั้นถ้าระบบตรวจสอบแล้วว่า B ได้ทำการโอน 100,000 บาท ให้ A เรียบร้อยแล้ว A ก็จะถูกโอนสิทธิความเป็นเจ้าของของงานศิลปะนั้นให้ B โดยทันที
 
 
-กลไกลการดูแลระบบของ Bitcoin ด้วย Blockchain

ด้วยการสร้างระบบที่ปลอมแปลงได้ยากของ Blockchain ทำให้สามารถนำมาแปลงหรือสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เช่น Bitcoin ได้มีการเขียน Smart Contract กำหนดเงื่อนไขหรือคุณสมบัติเฉพาะของ Bitcoin ที่กำหนด Bitcoin ให้เป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ไม่มีทางที่จู่ๆ จะมีใครสามารถเพิ่มจำนวน Bitcoin ขึ้นมาในบัญชีของตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของมันได้ และกลไกที่ให้ทุกคนมีมติเอกฉันท์ หรือ Consensus เราเรียกว่า “กลไก Incentive Economy” จะจูงใจให้คนมาร่วมดูแลระบบที่เรียกกันว่าการขุด โดยมีรางวัลให้กับผู้ที่ทำงานให้ระบบอย่างเที่ยงตรงเป็นเหรียญ Bitcoin นั่นเอง ผู้ดูแลระบบ หรือ นักขุด ก็เปรียบเสมือนกับนายธนาคารที่ทำการ Verify หรืออนุมัติการทำธุรกรรมการโอนและรับเงิน แต่แตกต่างตรงที่ไม่ต้องมีตัวกลางคอยทำเรื่องอนุมัติ แต่เป็นคนในระบบเท่านั้นเอง
 
 
ในอนาคต Blockchain มีแนวโน้มที่จะเข้ามาพลิกโฉมในอีกหลายๆวงการที่มีตัวกลาง ที่คอยดูแลจัดการข้อมูลหรือสินทรัพย์ให้เราอยู่ อาจจะเป็นข้อมูลการรักษาที่ต่อไปจะจัดเก็บข้อมูลของคนไข้ไว้ในระบบ Blockchain ที่ไม่ว่าเราจะรับการรักษาต่างโรงพยาบาล หรือต่างประเทศ เราก็ไม่จำเป็นต้องกรอกเอกสารใหม่ หรือ แจ้งข้อมูลประวัติการแพ้ หรือ ประวัติการรักษาอีกต่อไป เพราะข้อมูลได้ถูกจัดเก็บเอาไว้ใน Blockchain สามารถเรียกดูได้ทุกที่ หรือจะเป็นการเก็บสินทรัพย์ที่ดินไว้บนระบบ Blockchain ที่ไม่ต้องพึ่งการเก็บโฉนดที่ดินในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป ปลอดภัยจากการถูกโกงหรือเกิดจากความผิดพลาดโดยฝีมือคน ที่เรียกกันว่า “Human Errors” เป็นต้น

ยุคดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดในทุกๆ วัน แสดงว่าโลกของเรายังคงหมุนไปข้างหน้าวันแล้ววันเล่า หากเรายังคงยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ไม่อ้าแขนรับสิ่งที่กำลังเข้ามา สุดท้ายเราจะเป็นบุคคลที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และระยะทางระหว่างเรากับโลกใบใหม่จะไม่สามารถต่อกันติดได้อีกเลย ฉะนั้นเราควรลองเปิดใจศึกษาเรื่องใหม่ๆ เช่น เรื่องของการลงทุนในรูปแบบ Digital Asset หรือเรื่องของเทคโนโลยี Blockchain ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกประดับเป็นอาวุธติดตัวเอาไว้ และเราจะสามารถนำความรู้เหล่านี้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มคุณภาพชีวิตของเราในอนาคตอันใกล้ได้อย่างแน่นอน

LastUpdate 11/12/2564 22:16:30 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 2:35 am