แม้ว่า “ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต” จะมีแค่ 2 แบรนด์ แต่การแข่งขันของธุรกิจนี้ไม่ได้ลดลงเลย เพราะนอกจากจะแข่งขันในด้านของการลด แลก แจก แถมแล้ว ล่าสุดยังหันมาแข่งขันในด้านของบริการอย่างร้านกาแฟ เนื่องจากปัจจุบันคนไทยหันมาดื่มชาและกาแฟมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และห้างโลตัส จึงเล็งเห็นโอกาสในการสร้างร้านกาแฟของตัวเองเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ
เริ่มจาก “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” หลังจากเข้าซื้อกิจการร้านกาแฟวาวี มาเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2561 ก็เดินหน้าลุยขยายสาขาร้านกาแฟวาวีภายในห้างบิ๊กซี ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบ “คาเฟ่ แอนด์บิสโทร” ควบคู่ไปกับการขยายสาขาในรูปแบบคีออส ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำจุดเด่นในด้านของรสชาติกาแฟ ซึ่งจะชูไปที่กาแฟไทยออร์แกนิคระดับพรีเมี่ยมได้รับการยอมรับในเวทีโลก ด้วยมาตรฐานการผลิตกาแฟออร์แกนิคระดับสากลจากทั้งในสหรัฐฯ(USDA) และยุโรป
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ผู้บริหารห้าง “บิ๊กซี” กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทได้ใช้งบการลงทุนไปประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ในการลงทุนขยายและปรับปรุงสาขาในทุกๆ รูปแบบ รวมทั้งการทำกิจกรรมทางการตลาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ในส่วนของงบดังกล่าวนอกจากจะใช้ไปกับการขยายสาขาห้างบิ๊กซีในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ยังขยายห้างบิ๊กซี ในรูปแบบ Cash & Carry , คอนวีเนียนสโตร์ ,การทำตลาดในช่องทางออนไลน์ ,ขยายสาขาในต่างประเทศ ร้านขายยาเพียว และร้านกาแฟวาวี ซึ่งปีนี้มีแผนที่จะเปิดเพิ่มประมาณ 39 สาขา
หลังจากห้างบิ๊กซี เดินหน้าลุยขยายสาขาร้านกาแฟวาวีอย่างต่อเนื่อง ในด้าน “ห้างโลตัส” ก็ออกมาประกาศลุยเปิดร้านกาแฟเช่นกัน ภายหลังได้อยู่ใต้หลังคาบ้านของเครือซีพี ซึ่งมีความแข็งแกร่งในด้านของธุรกิจกาแฟ
นายนริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มโลตัสส์ เอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้นประเทศจีน กล่าวว่า จากเทรนด์การบริโภคชาและกาแฟของคนไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องพัฒนาธุรกิจคาเฟ่ของโลตัสขึ้นมา เพื่อตอบไลฟ์สไตล์และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอย ด้วยการเปิดตัวร้านกาแฟจำนวน 2 แบรนด์ เข้ามาทำตลาด ได้แก่ “จัลเกิ้ลคาเฟ่” (Jungle Café) และ “อราบิเทีย” (Arabitia) โดยในส่วนของแบรนด์ Jungle Café จะเป็นร้านกาแฟที่เปิดให้บริการร้านโลตัสในรูปแบบคอนวีเนียนสโตร์
ปัจจุบันได้เปิดให้บริการร้าน “จัลเกิ้ลคาเฟ่” ในร้านโลตัส โก เฟรช ไปแล้วกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ มุ้งเน้นไปที่ความสะอาด สะดวก และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ด้วยการมีเมนูให้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเมนูกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ไม่ใช่กาแฟ ซึ่งในส่วนของคอกาแฟจะได้ลิ้มลองกาแฟอาราบิก้าและโรบัสต้าอย่างลงตัว
ส่วนแบรนด์ “อราบิเทีย” จะเป็นคาเฟ่สไตล์โมเดิร์น คลาสสิก ที่เปิดให้บริการในไฮเปอร์มาร์เก็ต โลตัสกว่า 70 สาขา ทั้งในรูปแบบคาเฟ่เต็มรูปแบบ ไปจนถึงเป็นร้านคาเฟ่ขนาดเล็ก ในส่วนของแบรนด์นี้จะชูจุดเด่นในด้านการมีอุปกรณ์เต็มที่เต็มรูปแบบ การมี cloud kitchen สำหรับสั่งสินค้าออนไลน์ การเสิร์ฟเมนูเครื่องดื่มจากวัตถุดิบระดับซูเปอร์พรีเมียม เบเกอรี่ และอาหารพร้อมรับประทาน
นายนริศ กล่าวอีกว่า ร้านอราบิเทีย นอกจากจะมีจุดเด่นในด้านของวัตถุดิบระดับซูเปอร์พรีเมียมและบริการแล้ว ยังมีการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในหลายพื้นที่ให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยการรับซื้อเมล็ดกาแฟคัดสรรคุณภาพจากหลายแหล่ง เช่น กาแฟน่าน สายพันธุ์ Arabica ปลูกบนพื้นที่กว่า 1,400 ไร่ของป่าต้นน้ำ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ผลผลิตจากโครงการนำมาแปรรูปแบบพิเศษ Honey Process ไม่มีน้ำเสียจากกระบวนการ ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
กาแฟปางขอน สายพันธุ์ Arabica ปลูกโดยวิสาหกิจชุมชนบนดอยสูงเหนือระดับน้ำทะเล โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริบ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย กาแฟดอยช้าง เฮราโมน ซึ่งหมายถึง “ความสามัคคี” ในภาษาของชนเผ่าอาข่า ปลูกโดยวิถีภูมิปัญญาชนเผ่าอาข่าบนบ้านดอยช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะที่สุดของการปลูกกาแฟในประเทศไทย ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 -1,500 เมตร มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ตั้งแต่กระบวนการเพาะกล้าจนถึงกระบวนการคั่ว ได้รับรางวัลชนะเลิศโล่พระราชทานจากการประกวดสารกาแฟประจำปี พ.ศ.2561 ของจังหวัดเชียงราย
กาแฟไล่โว่ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำงานอนุรักษ์ผืนป่า พร้อมพัฒนาการปลูกกาแฟ Robusta ของกลุ่มไปเป็นกาแฟอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดกาแฟ และกาแฟทีลอซู กาแฟ Arabica ออร์แกนิก จากความร่วมมือของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและชุมชนใกล้เคียง เพื่อหันมาปลูกกาแฟออร์แกนิกใต้ร่มเงาผืนป่า แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมี ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการห้างโลตัสคาดหวังว่าจะได้ผลการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย
สำหรับภาพรวมของตลาดกาแฟพร้อมดื่ม (Ready To Drink Coffee : RTD) ในไทยปี 2563 ที่ผ่านมา มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท หากเจาะลึกตลาดกาแฟพร้อมดื่มระดับพรีเมียมในปีนี้ยังมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะตลาดกาแฟสดในประเทศไทยในปีนี้คาดการณ์กันว่าจะมีอัตราการเติบโตมากถึง 7.2% เนื่องจากคนไทยมีอัตราการบริโภคกาแฟเฉลี่ยมากกว่า 300 แก้วต่อคนต่อปีในช่วง Work From Home ที่ผ่านมา แม้ว่าจะน้อยกว่าคนยุโรปที่บริโภคกาแฟมากถึง 600 แก้วต่อคนต่อปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี
จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ทำให้มีการคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจร้านกาแฟปี 2565 น่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้คนไทยมีความเสี่ยงลดลง และกล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามร้านอาหารและร้านกาแฟมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจร้านกาแฟ ยังคงอยู่บนความท้าทายจากความไม่แน่นอน ความผันผวน ความคลุมเครือ หรือ VUCA Wolrd รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ผู้ประกอบการต้องวางแผนธุรกิจให้ดี โดยเฉพาะการมีแผนบริการจัดการความเสี่ยงในสิ่งที่ไม่คาดคิด
ข่าวเด่น