หุ้นทอง
สรุปประเด็นเวิร์กชอปออนไลน์ ''Options Workshop From Home''


เทรด Options อย่างไร เมื่อตลาดมีเทรนด์ (Bullish & Bearish Market)


Options คือ New Normal ใหม่ของกลยุทธ์การลงทุนในตลาดยุคปัจจุบัน เพราะไม่ว่าตลาดจะอยู่ในสภาวะไหนก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเทรดทำกำไรได้ ว่าแต่ต้องเทรด Options อย่างไรนะถึงจะได้กำไร? เรามาฟังคำตอบและเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Options ไปพร้อมๆ กันในหัวข้อ “เทรด Options อย่างไร เมื่อตลาดมีเทรนด์ (Bullish & Bearish Market)” สอนกันแบบจับมือเทรด โดย คุณปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บล. เกียรตินาคินภัทร มาดูกันว่าเทคนิคในการเทรดทำกำไรช่วงที่ตลาดมีเทรนด์ชัดเจน (Bullish & Bearish Market) นั้นจะมีอะไรบ้างไปดูกัน
 

1. รู้จักกับ Options
 
ก่อนจะเทรดทำกำไรให้ได้นั้นเราต้องรู้จักความหมายของ Options ก่อนว่าคืออะไร จะได้นำไปใช้ได้ถูกวิธี 
Options คือ สัญญาที่ผู้ขายให้สิทธิแก่ผู้ซื้อในการเลือกซื้อหรือขาย สินทรัพย์อ้างอิงภายใต้สัญญา ตามราคาใช้สิทธิ จำนวนและระยะเวลาที่ระบุเอาไว้ในสัญญา นักลงทุนมือใหม่สามารถจำหลักการง่ายๆ ได้ว่า ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ซึ่งผู้ซื้อจะต้องจ่าย ค่าพรีเมี่ยม (Premium) ให้กับผู้ขาย ส่วนผู้ขายเมื่อได้รับเงินส่วนนี้มาแล้ว จะมีภาระผูกพันต้องทำตามที่ตกลงกันไว้หากผู้ซื้อมาใช้สิทธิ

Options มี 2 ประเภท คือ Call Options และ Put Options

Call Options คือ สิทธิในการ “ซื้อ” สินค้าอ้างอิง ตามจํานวน ราคา และเวลากําหนดไว้ ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ใช้สิทธิก็ได้ หากไม่ใช้สิทธิภายในระยะเวลาที่กําหนด ออปชั่นก็จะหมดอายุไปเอง แต่ถ้าใช้สิทธิ ผู้ที่ขาย Options ให้เราก็มีภาระผูกพันที่จะต้องชำระราคาส่วนต่างของสินค้าอ้างอิงตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้ 

Put Options คือ สิทธิในการ “ขาย” สินค้าอ้างอิง ตามจํานวน ราคา และเวลาที่กําหนดไว้ ผู้ซื้อพุทออปชั่นจะได้รับสิทธิและสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิในการ “ขาย” หรือไม่ หากผู้ซื้อพุทออปชั่นเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิภายในระยะเวลาที่กําหนด ออปชั่นก็จะหมดอายุไป แต่ถ้าฝั่งผู้ซื้อใช้สิทธิ ผู้ที่ขาย Put Options ให้เราก็จะมีภาระผูกพันต้องชำระส่วนต่างของสินค้าอ้างอิงตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้เช่นเดียวกัน

หรือหากยังเห็นภาพไม่ชัด อาจเปรียบเทียบการซื้อขาย Options เป็นสิ่งที่คุณเห็นหรือทำในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การซื้อใบจองคอนโดก็เหมือนกับ Call Options คือเมื่อซื้อใบจองคอนโดไว้แล้ว หากวันใดวันหนึ่งเกิดมีการสร้างรถไฟฟ้าหน้าคอนโดขึ้นมา มูลค่าคอนโดมากขึ้น แต่คุณสามารถซื้อได้ในราคาเท่ากับใบจอง ส่วน Put Options นั้นก็มีหลักการเดียวกับการทำประกันทั่วไป คือซื้อเอาไว้เมื่อคาดว่าอนาคตจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ, เกิดวิกฤต, เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด หรือแม้แต่การทำประกันโควิดเองก็ใช่ โดยตลาดของ Options นั้นเป็น Zero-Sum Game หมายความว่าหากมีคนได้ก็ต้องมีคนเสียในจำนวนเท่ากันเสมอ 
 
อธิบายสัญลักษณ์ตัวย่อของ Options เช่น S50U21C950
 
อักษร 3 ตัวแรก หมายถึง สินค้าอ้างอิง คือ ดัชนี SET50 เขียนย่อว่า S50
อักษรตัวที่ 4 หมายถึง เดือนที่สัญญาหมดอายุ (U=เดือนกันยายน)
อักษรตัวที่ 5 และ 6 หมายถึง ปีที่สัญญาหมดอายุ (ปี 2021)
อักษรตัวที่ 7 หมายถึง ชนิดของ Options โดย C = Call และ P = Put
อักษรตัวที่ 8 เป็นต้นไป หมายถึง Strike Price หรือราคาใช้สิทธิของ Options = 950

ประเภทการใช้สิทธิ
 
ถ้าแบ่ง Options ตามประเภทการใช้สิทธิ โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 แบบ คือ
 
- ออปชั่นแบบ European หมายถึง ออปชั่นที่สามารถใช้สิทธิได้ครั้งเดียวคือเมื่อครบกำหนดอายุสัญญา แต่ระหว่างนั้นก็สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือในกระดานได้ตลอดเวลา ซึ่ง Options ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของประเทศไทยนั้นเป็นแบบ European
- ออปชั่นแบบ American หมายถึง ออปชั่นที่สามารถใช้สิทธิได้ทุกวันทำการจนกว่าสัญญาจะหมดอายุ 

Moneyness คือสิ่งบอกสถานะของ Options 
 
- In-The-Money : บ่งบอกว่า Options ตัวนี้มี Strike Price อยู่ในช่วงที่สามารถใช้สิทธิได้หรือใช้สิทธิแล้วได้ประโยชน์ ซึ่งราคา Premium จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ Strike Price ที่ได้เปรียบ
- At-The-Money : เป็น Options ที่มีสถานะหรือ Strike Price อยู่ใกล้เคียงกับดัชนีปัจจุบันมากที่สุด มีสภาพคล่องสูง
- Out-of-the-Money : บ่งบอกว่า Options ตัวนี้มี Strike Price อยู่ในช่วงที่ไม่ได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิ ซึ่งราคา Premium จะยิ่งถูกลงเรื่อยๆ ตามลำดับ Strike Price ที่เสียเปรียบ

ประโยชน์ของ Options
 
- ใช้เก็งกำไรได้ทั้งขาขึ้นและลง
- สามารถจำกัดผลขาดทุนแต่ไม่จำกัดกำไร (เฉพาะฝั่ง Long Options)
- มี Leverage จึงใช้เงินลงทุนน้อยกว่า 
- ใช้บริหารความเสี่ยงเมื่อตลาดไม่เป็นไปตามคาด
- สร้างกลยุทธ์ได้หลากหลาย

ความเสี่ยงของ Options
 
- ความเสี่ยงด้านราคาดัชนีอ้างอิง (Market Risk)
- ความเสี่ยงด้านความผันผวน (Volatility Risk)
- ความเสี่ยงด้านค่าเสื่อมเวลา (Time Decay)
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)

2. กลยุทธ์การเทรด
 
เราต้องรู้ก่อนว่าราคา Options ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ Time Value + Intrinsic Value ซึ่ง Options นั้นจะเสื่อมมูลค่าลงตามเวลาเรื่อยๆ จนถึงวันที่หมดอายุ เมื่อ Options ครบกำหนดแล้วจะเหลือมูลค่าเฉพาะแค่ Intrinsic Value เท่านั้น ซึ่งแบ่งวิธีเทรด Options เบื้องต้นดังนี้

กลยุทธ์ Long Options เป็นการเทรดที่เราสามารถจำกัดขาดทุนตามค่า Premium ที่จ่าย โดยไม่จำกัดผลตอบแทนได้
 
- Long Call Options
 
ใช้ตอนตลาดขาขึ้น การคำนวณ Breakeven หรือจุดคุ้มทุนคือใช้ [ราคาใช้สิทธิ + ค่า Premium] ของ Call Options ที่ซื้อ เทียบกับดัชนีในวันที่ปิดสถานะ จะกำไรก็ต่อเมื่อราคาใช้สิทธิรวมค่า Premium แล้วน้อยกว่าดัชนีของวันที่ปิดสถานะ 

- Long Put Options 
 
ใช้ตอนตลาดขาลง การคำนวณ Breakeven หรือจุดคุ้มทุนคือใช้ [ราคาใช้สิทธิ - ค่า Premium] ของ Put Options ที่ซื้อ เทียบกับดัชนีในวันที่ปิดสถานะ จะกำไรก็ต่อเมื่อราคาใช้สิทธิหักค่า Premium แล้วสูงกว่าดัชนีของวันที่ปิดสถานะ 

กลยุทธ์ Short Options เป็นการเทรดที่เรารับค่า Premium มาก่อน โดยจะกำไรสูงสุดไม่เกินค่า Premium ที่ได้รับมา ซึ่งสามารถขาดทุนได้ไม่จำกัดหากผิดทาง
 
- Short Call Options 
 
ใช้ตอนตลาดเป็น Sideway Down การคำนวณ Breakeven หรือจุดคุ้มทุนคือใช้ [ราคาใช้สิทธิ + ค่า Premium] ของ Call Options ที่ขาย เทียบกับดัชนีในวันที่ปิดสถานะ จะกำไรก็ต่อเมื่อราคาใช้สิทธิรวมค่า Premium แล้วสูงกว่าดัชนีของวันที่ปิดสถานะ เพราะผู้ซื้อ Call Options จะไม่มาใช้สิทธิ
 
- Short Put Options  
 
ใช้ตอนตลาดเป็น Sideway Up การคำนวณ Breakeven หรือจุดคุ้มทุนคือใช้ [ราคาใช้สิทธิ - ค่า Premium] ของ Put Options ที่ขาย เทียบกับดัชนีในวันที่ปิดสถานะ จะกำไรก็ต่อเมื่อราคาใช้สิทธิหักค่า Premium แล้วต่ำกว่าดัชนีของวันที่ปิดสถานะ เพราะผู้ซื้อ Put Options จะไม่มาใช้สิทธิ

นอกจากกลยุทธ์พื้นฐานนี้แล้ว ยังมีกลยุทธ์เทรดแบบ Spread ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่า Premium ที่จ่ายลงแต่ก็จะจำกัดกำไรไปด้วย และกลยุทธ์ Straddle ซึ่งเน้นการแกว่งตัวแรงๆ ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน

3. เทรด Options ต้องดูอะไร
 
Indicator หรือข้อมูลที่ควรใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อขาย Options ได้แก่
Delta : การเปลี่ยนแปลงของราคา Options เมื่อราคาสินค้าอ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1 จุด
% Time Decay : % การเปลี่ยนแปลงของราคา Options เมื่อผ่านไป 1 วันทำการ
Implied Volatility (IV) : ความผันผวนแฝงที่ใช้ในการเปรียบเทียบความถูกแพงของ Options ยิ่ง IV สูง ราคา Options ยิ่งแพง

ทั้งนี้เราสามารถคำนวณราคา Options ที่เหมาะสมแต่ละ Strike Price ได้ที่เว็บไซต์ของ TFEX เพื่อดูว่าราคา Options ในกระดานปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ https://www.tfex.co.th/tfex/optionsCalculator.html

4. Options Starter
 
สำหรับมือใหม่คนไหนที่ต้องการฝึกเทรด Options ก่อนลงสนามจริง คุณสามารถใช้ Options Starter แอปฯ ใหม่ตัวช่วยเทรด Options ที่พัฒนาออกมาเพื่อนักลงทุนมือใหม่โดยเฉพาะ เทรดง่าย นอกจากจะใช้คู่กับ Streaming ได้แล้วยังใช้หลักการเดียวกัน คุณสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ ไม่ว่าเทรดจริงหรือลองเทรดในบัญชีจำลอง โดยตอนนี้ Options Starter จะสามารถส่งคำสั่งได้เฉพาะฝั่ง Long อย่างเดียวเพื่อให้มือใหม่เข้าใจ Options ได้ง่ายๆ และจำกัดผลขาดทุนได้ด้วย

สุดท้ายสิ่งสำคัญที่ต้องดูก่อนเทรด Options แบบเน้นๆ ก็คือค่า Implied Volatility, Volume และ OI ประกอบการเทรด เนื่องจากเราไม่ได้ซื้อเพื่อถือจนถึงวันหมดอายุทุกครั้งไป พยายามเลือกดู Series ที่เป็น At-The-Money ก่อนเพราะจะมีสภาพคล่องสูงที่สุด ซึ่งถ้าหากเทรดผิดทางก็อย่าลืมที่จะ Stop Loss โดยเฉพาะการเทรดฝั่ง Short Options ส่วนในเรื่องของการส่งคำสั่งแนะนำให้ใช้แบบ Limit Order หรือใส่ตัวเลขราคาเองเท่านั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการได้ราคาที่ผิดปกติจาก Market Order 

รับชมสัมมนาย้อนหลัง “เทรด Options อย่างไร เมื่อตลาดมีเทรนด์ (Bullish & Bearish Market)” 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ธ.ค. 2564 เวลา : 09:59:16
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 1:48 pm