หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลายกิจการสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ปกติ และทำมาค้าขายกันได้มากขึ้น ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตาม ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์กันว่าภาพรวมอุตสาหกรรมในปี 2565 น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปี 2564
สำหรับตัวเลขคาดการณ์ของอุตสาหกรรมโฆษณาที่ทางบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ คาดการณ์ไว้ในปี 2565 คือ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 13% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 84,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่คาดว่าจะปิดปีด้วยตัวเลข 74,550 ล้านบาท ลดลง -0.8% จากปี 2563 ที่มีมูลค่าประมาณ 75,168 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2565 เชื่อว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตไที่ประมาณ 13% เพราะปีนี้เราได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ถ้ามีการแพร่ระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์โอมิครอน และมีการล็อคดาวน์เกิดขึ้นอีกครั้งก็อาจจะโตไม่ถึง 2 หลัก ซึ่งโดยรวมก็ยังถือว่ามีอัตราการเติบโต ยกเว้นกรณีมีการแพร่ระบาดของโควิด-2022 เกิดขึ้นอาจต้องมีการรีเซ็ตสถานการณ์กันใหม่อีกครั้ง
สิ่งที่น่าจับตามองอีกอย่างของอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2565 คือ อัตราส่วนของสื่อทีวี ซึ่งจะมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก โดยจากการคาดการณ์ของเอ็มไอ ระบุว่า ปี 2565 สื่อทีวีน่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 47.5% ลดลงจากปี 2564 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 50.1% ตามด้วยสื่ออินเตอร์เน็ตที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 31.3% ในปี 2564 เพิ่มเป็น 32% ในปี 2565 และสื่อนอกบ้าน ที่คาดว่าปี 2565 จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 12.9% จาก 10.3% ในปี 2564
ในส่วนของหมวดหมู่สินค้าที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณามากที่สุดในปี 2564 คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน ใช้เม็ดเงินไปประมาณ 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 25% โดยแบรนด์ที่ใช้เม็ดเงินมากที่สุด คือ บริษัท แมสมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของแบรนด์ “เทพไทย” ตามด้วยแบรนด์ “คอลเกต” ส่วนหมวดสินค้าที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณามากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 2,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 175% ซึ่งแบรนด์มาร์เก็ตเพลสที่มีการใช้เม็ดเงินมากที่สุด คือ "ลาซาด้า" อันดับ 3 เป็นของหมวดเครื่องดื่มน้ำอัดลม มีการใช้เม็ดเงินอยู่ที่ 1,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% โดยแบรนด์ที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณามากที่สุด คือ “โค้ก”
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วงเดือน พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ประมาณ -9% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 8,158 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 9,007 ล้านบาท โดยสื่อที่มีอัตราการเติบโตเป็นบวกมีเพียงสื่อโรงหนังเท่านั้น คือ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 448 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 413 ล้านบาท
ส่วนสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อหนังสือพิมพ์ ติดลบที่ประมาณ -26% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 213 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 286 ล้านบาท ตามด้วยสื่อนิตยสาร ติดลบที่ประมาณ -26% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 49 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 66 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่ ติดลบที่ประมาณ -23% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 339 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 440 ล้านบาท สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี ติดลบที่ประมาณ -16% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 92 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 109 ล้านบาท
สื่อในอาคาร ติดลบที่ประมาณ -16% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 63 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 75 ล้านบาท สื่อทีวี ติดลบที่ประมาณ -8% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5,469 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 5,964 ล้านบาท สื่อนอกอาคาร ติดลบที่ประมาณ -6% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 560 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 596 ล้านบาท สื่อวิทยุ ติดลบที่ประมาณ -3% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 299 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 308 ล้านบาท ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ต มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่ออยู่ที่ 626 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 748 ล้านบาท
เม็ดเงินที่เกิดขึ้นดังกล่าวในเดือน พ.ย.สอดคล้องกับภาพรวม 11 เดือนที่ยังคงขยายตัวติดบอยู่ที่ประมาณ 1% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 83,222 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 84,019 ล้านบาท โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี ขยายตัวติดลบที่ 35% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 916 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,399 ล้านบาท ตามด้วยสื่อเคลื่อที่ ติดลบที่ -25% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,297 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 4,398 ล้านบาท สื่อโรงหนัง ติดลบที่ประมาณ -25% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,732 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 3,650 ล้านบาท
สื่อหนังสือพิมพ์ ติดลบที่ประมาณ -19% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,262 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 2,801 ล้านบาท สื่อนิตยสาร ติดลบที่ประมาณ -17% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 549 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 663 ล้านบาท สื่อวิทยุ ติดลบที่ประมาณ -10% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,950 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 3,280 ล้านบาท สื่อนอกอาคาร ขยายตัวที่ 0% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5,445 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 5,455 ล้านบาท
สำหรับสื่อที่มีการขยายตัวเป็นบวก คือ สื่อทีวี มีอัตราการเติบโตที่ 2% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 57,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 55,805 ล้านบาท ตามด้วยสื่อในอาคาร มีอัตราการเติบโตที่ 2% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 608 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 597 ล้านบาท ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ต มีมูลค่าอยู่ที่ 7,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 5,973 ล้านบาท
จบปี 2564 จะเป็นไปอย่างที่ เอ็มไอ เอเยนซี่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโฆษณา คาดการณ์หรือไม่ คงต้องมาลุ้นกัน เพราะเท่าที่ดูบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงส่งท้ายปีแบบนี้ ปีนี้มีความคึกคักกว่าปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด
ข่าวเด่น