นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อคราวประชุมวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ) เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ตามความที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) ที่กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐมีหน้าที่จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ ได้กำหนดเป้าหมายให้ภาคการคลังมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่ายและหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลังเพื่อให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ภายใต้หลักการ CARE ประกอบด้วย
1. C: Creating Fiscal Space หรือ การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างระมัดระวัง โดยการบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลังหรือ Fiscal Space ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยต้องคำนึงถึงกรอบวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) ด้วยการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังต่าง ๆ ให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพยายามรักษาระดับการขาดดุลงบประมาณต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมได้ในระยะปานกลาง
2. A: Assuring Debt Sustainability หรือ การบริหารจัดการหนี้อย่างมีภูมิคุ้มกัน โดยการบริหารหนี้สาธารณะให้มีความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการวางแผนการชำระหนี้ให้เหมาะสม และไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว
3. R: Revenue Recovering หรือ การฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ
ของประเทศและการแข่งขันในปัจจุบัน
4. E: Expenditure Reprioritizing หรือ การปรับการจัดสรรงบประมาณ โดยการชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเพื่อนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินภารกิจที่มีความสำคัญลำดับสูง และประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน และให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่ต้องจัดสรรตามสิทธิ ตามกฎหมาย และตามข้อตกลงที่กำหนด
ข่าวเด่น