หุ้นทอง
ข้อควรระวัง ลงทุนหุ้น IPO ไม่ให้ติดดอย


ในช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาเปิดบัญชีลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นจำนวนมากแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คุณอธิป กีรติพิชญ์ บอกว่า โดยสาเหตุหลักมีด้วยกันหลายประการ ดังนี้


เป็นช่วง Work From Home มนุษย์เงินเดือน คนทำธุรกิจค้าขาย คนทำงานสายการบิน คนทำงานภาคท่องเที่ยว และคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกตลาดหุ้นเป็นจำนวนมากจากหลากหลายอาชีพ ไม่ได้ออกจากบ้านไปทำงาน ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น จึงต้องการลองเริ่มลงทุนในตลาดหุ้น

ช่วงดอกเบี้ยต่ำและตลาดหุ้นเพิ่งตกหนักจากวิกฤติ คนที่มีเงินออมจำนวนมากพบว่า การฝากเงินแทบไม่ได้ดอกเบี้ยอะไร จึงสนใจที่จะย้ายเงินฝากเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นที่เพิ่งปรับฐานลงหนัก จากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการแสวงหาโอกาสในวิกฤติ โดยเฉพาะช่วง SET on Sale
 

กระแสของหุ้น IPO มีหุ้น IPO ระดับยักษ์ใหญ่ที่มูลค่าของกิจการเกิน 5 หมื่นล้านบาท หรือบางตัวอาจเกินแสนล้านบาท อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่เป็นที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน สินเชื่อ ขนส่ง แพคเกจจิ้ง ถุงมือยาง ฯลฯ ทยอยเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอย่างไม่ขาดสาย ประกอบกับมีการโปรโมทในทุกช่องทางข่าวสาร จึงเป็นที่รับรู้ของนักลงทุนมือใหม่จำนวนมาก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
 
ทั้งนี้ หุ้นไอพีโอ (IPO) ย่อมาจาก Initial Public Offering หมายถึง กิจการที่เข้าจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO แก่ประชาชนทั่วไปด้วยวิธีการกระจายหุ้นในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น กิจการที่เคยอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ก็จะแปลงสภาพเป็นกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Company)
 
หุ้น IPO เป็นที่ต้องการของนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่จำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่ เมื่อเข้ามาเทรดในตลาดวันแรก ราคามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ทำกำไรได้ง่ายและเร็ว ความสนใจเข้าจองซื้อหุ้น IPO จึงมีสูง ดังนั้น จำนวนหุ้น IPO ที่เปิดให้จองมักจะหมดลงอย่างรวดเร็วแทบไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการจองซื้อ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในปี 2564 คือ กระแสความสนใจจองซื้อหุ้น IPO อย่าง หุ้น OR - บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ หุ้น TIDLOR - บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นข่าวในหน้าสื่อทุกช่องทางติดต่อกันเป็นแรมเดือน และผลงานการเข้าซื้อขายในตลาดวันแรกก็ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง ราคาปิดวันแรกสูงกว่าราคาเสนอขาย IPO อย่างมีนัยสำคัญ ดังตาราง

ครั้งใดก็ตามที่มีหุ้น IPO ออกใหม่ นักลงทุนมักจะรู้สึกตื่นเต้นและเข้าไป “ตามล่าหาหุ้น IPO” เพื่อลงทุนกันมากมาย นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนธันวาคม 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธ.ค. 64) มีหุ้น IPO เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากถึง 38 ตัว แบ่งเป็น 17 หุ้น จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 3 กอง REIT จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ 18 หุ้น จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI)
 
เนื่องจากหุ้น IPO มีจำนวนหุ้นเสนอขายที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับความต้องการของนักลงทุนในตลาด ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ และนักลงทุนทั่วไป ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่จะได้รับการจัดสรร “หุ้น IPO ที่ราคาจองซื้อ” มีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะเข้าตะลุมบอนซื้อขายหุ้น IPO ที่เข้าเทรดวันแรกในตลาด เพราะมีราคาที่เหวี่ยงสูง มีวอลุ่มการเทรดหนาแน่น หลายคนคิดว่า เข้าไปซื้อและทำกำไรได้ในวันเดียว หรือถ้าพลาดพลั้งยังไงก็ถือติดพอร์ตลงทุนทิ้งไว้ยาว ๆ โดยที่ไม่ต้องสนใจราคาเลยก็ได้ ซึ่งผมคิดว่า เป็นความคิดที่อันตรายมาก
 
 
เพราะหลังจากที่หุ้น IPO เข้าทำการซื้อขายในตลาดหุ้น ผ่านวัน 1st Trading Day ไปแล้ว กระแสข่าวตามหน้าสื่อต่าง ๆ ก็จะทยอยลดลงไป เพื่อเปิดพื้นที่ข่าวให้กับหุ้นที่มีประเด็นตัวอื่น ๆ รวมทั้งหุ้น IPO ตัวใหม่ที่กำลังจะเข้าเป็นรายต่อไป หุ้น IPO ตัวนั้นก็จะกลายสภาพเป็นหุ้นจดทะเบียนตัวหนึ่ง ในหุ้นกว่า 800 ตัวที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย นับจากนี้ราคาหุ้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผลของรายได้และกำไรของกิจการ โดยไม่มีแรงส่งจากความสดใหม่และหน้าข่าวที่ประโคมให้แบบในช่วงแรก ๆ อีกต่อไป ซึ่งมีหุ้น IPO ในช่วงปี 2563-2564 จำนวนไม่น้อย ที่ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน มีราคาสูงกว่าราคา IPO แต่ ราคาต่ำกว่าราคาปิดวันแรก (1st trading day) และมีราคาต่ำกว่าราคา IPO ที่เราเรียกว่า “หุ้นต่ำจอง” นั่นเอง
 
นั่นหมายความว่า การเข้าลงทุนหุ้น IPO หรือเข้าลุยซื้อในวัน 1st Trading Day แล้วถือไว้เฉย ๆ นั้น มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน โดยส่วนตัว ผมมีข้อสังเกตและข้อควรระวัง ในการเข้าจองหุ้น IPO หรือเข้าซื้อขายหุ้น IPO ในวันแรก ดังนี้1. อย่าจองซื้อหุ้น IPO โดยที่ยังไม่รู้อะไรเลยอย่างเด็ดขาด

แม้ว่าจะเป็นการจองซื้อหุ้น IPO แต่การวิเคราะห์กิจการก่อนเข้าลงทุน ยังคงทำเหมือนการวิเคราะห์หุ้นทั่วไปทุกประการ กล่าวคือ กิจการนั้น ต้องอยู่ในเมกะเทรนด์ อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นขาขึ้น มีปัจจัยเชิงคุณภาพของลักษณะกิจการที่ดี และมีงบการเงินย้อนหลังที่ดูดีใช้ได้ ซึ่งอย่างน้อยควรมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นย้อนหลังตลอด 3 ปีก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์
 
2. ระวังราคาจองซื้อหุ้นและราคาที่เข้าซื้อในวัน 1st Trading Day

สมัยก่อนนักลงทุนบางท่านมักจะแซวกันขำ ๆ ว่า IPO ย่อมาจาก It's Probably Overvalue เพราะอะไร ลองนึกถึงหลักความเป็นจริง ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัท จะนำบริษัทมาขายแบ่งส่วนให้คนทั่วไป ถามว่า เราอยากขายถูกหรือขายแพงแล้วบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการ IPO ทั้งที่ปรึกษาทางการเงิน หรือบริษัทที่รับผิดชอบการนำหุ้นออกขาย อยากขายให้ได้เงินน้อยหรือมากเท่านี้ เราก็คงพอเดาได้ว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO มักจะไม่ใช่ราคาถูก และมีหุ้นหลายตัวที่ราคาจองซื้อ IPO จัดว่าแพง และยิ่งเป็นราคา 1st Trading Day ที่ราคาหุ้นบวกเพิ่มจากแรงเก็งกำไรในวันแรก ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะฉะนั้นมูลค่าที่แท้จริงของกิจการยังเป็นเรื่องสำคัญ
 
3. หุ้น IPO ตัวนี้เข้ามาในตลาดเพื่ออะไร

จุดนี้นักลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและหาคำตอบให้ได้ เพราะบางกิจการทำธุรกิจครอบครัว ก่อร่างสร้างตัวมาจนกระทั่งเติบโตเต็มที่และเข้าสู่ช่วงอิ่มตัวแล้ว ตลาดเต็มไปด้วยการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูงจากการ Disruption ทำไมเจ้าของถึงอยากเอากิจการเข้าตลาดหุ้นในตอนที่ภาพในอนาคตแทบไม่มีการเติบโตอีกแล้ว เอาเข้ามาเพื่อแบ่งสมบัติในครอบครัว เอาเข้ามาเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เจ้าของเดิม หรือกิจการอาจมีผลประกอบการขาดทุนยาวนาน และให้เหตุผลในการระดมทุนว่า "เพื่อนำไปชำระหนี้ ลดการขาดทุนสะสม" โดยที่ไม่ได้ฉายภาพอนาคตของการเติบโตใด ๆ เลย แบบนี้ก็ควรระมัดระวัง  
 
4. จงระวังหุ้น IPO ที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย

กรณีที่หุ้น IPO ตัวใดที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ขายหนักอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันแรก หรือช่วงแรกของการเข้าตลาด (ซึ่งราคายังสูงอยู่) จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหุ้นตัวนั้นอย่างมาก และในบางกรณี หุ้นบางตัวอาจมีการจ่ายเงินปันผลออกมาอย่างหนัก ก่อนจะกระจายหุ้นแบ่งให้คนอื่นมาร่วมถือหุ้นด้วย หรือ หุ้นบางตัวอาจมีการเพิ่มทุนก่อนที่ราคาจะต่ำ (เช่น ราคาพาร์) ก่อนเข้าตลาดไม่นาน เพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นในมือของตัวเองก่อนวันขายหุ้น IPO ให้แก่ประชาชนทั่วไป
 
5. จงระวังหุ้น IPO ที่เหลือจากการขาย มีโควต้ามาถึงมือรายย่อยเป็นจำนวนมากและได้มาแบบง่าย ๆ

ปกติหุ้น IPO เป็นสิ่งที่คนอยากได้และมีอยู่จำกัด การที่มีโควต้าให้หุ้น IPO มาถึงมือรายย่อยทั่วไปเป็นจำนวนมากและได้มาแบบง่าย ๆ แปลตรงตัวได้ว่า การระดมทุนรอบนี้ อาจจะมีจำนวนมากเกินไป ทั้งในเชิงจำนวนหุ้น (มากไป) และราคาหุ้น (สูงไป) ไม่มีใครสนใจ นักลงทุนจึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่ากระแสของหุ้น IPO จะยังคงร้อนแรงต่อไป ตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในสถานที่ระดมทุนชั้นดีของกิจการที่มีเงื่อนไขเข้าเกณฑ์ในการจดทะเบียน และยังมีหุ้นที่อยู่ใน Pipeline ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกมากกว่า 10 ตัว ในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 นี้ สำหรับนักลงทุนรายย่อย ต้องระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นตัวใด นักลงทุนควรดูข้อมูลพื้นฐานของกิจการ และตอบตัวเองให้ได้ว่า กิจการนั้นจะโตด้วยอะไร เติบโตไปได้แค่ไหน มูลค่าของกิจการเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นหุ้น IPO สดใหม่ หรือหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นมานานแล้วก็ตาม

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ธ.ค. 2564 เวลา : 20:04:56
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 12:29 pm