การตลาด
สกู๊ป นักการตลาดเปิดกลยุทธ์ The Survival Hack อุ้ม SMEs ฝ่าวิกฤตโควิด-19


จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจการค้าต้องได้รับกันไปแบบเต็มๆ  โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs  ต้องล้มหายไปจากวงการมากพอสมควร  เนื่องจากมีสายป่านไม่ยาวพอที่จะต่อสู้กับปัจจัยลบที่เกิดขึ้น  ซึ่งหากไปดูข้อมูลล่าสุดของสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะพบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ประมาณ  40.1%  ที่ตอบแบบสอบถามมีโอกาสปิดกิจการในเร็วๆนี้ เพราะยอดขายลดลงเฉลี่ย  อีก 18.6%  ต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.9% กำไรลดลงเฉลี่ย 20.6% ยอดคำสั่งซื้อลดลง 15.3%  และสภาพคล่องลดลงกับการจ้างงานลดลงเฉลี่ย 9.8%

นอกจากนี้  ยังพบว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้  SMEs ต้องปิดกิจการไปแล้วประมาณ 5% จากจำนวนทั้งหมดกว่า 3 ล้านราย ซึ่งการปิดกิจการดังกล่าวทำให้รายได้ของประเทศหายไปประมาณ 3 แสนล้านบาท และมีคนตกงานเพิ่มอีก 1-2 ล้านคน ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ มีแนวคิดที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการจับมือร่วมกับคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(CBS) จัดทำคู่มือ “เทคนิคพาธุรกิจรอด 2022 : The Survival Hacks” ช่วยเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติ
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ ผู้ให้บริการซื้อ - ขาย สื่อโฆษณา และวางกลยุทธ์ทางการตลาด  กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs  ถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่สร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทย  เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบก็ทำให้เม็ดเงินที่เคยไหลเข้าระบบเศรษฐกิจหายไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งในส่วนของคู่มือที่จะทำให้ธุรกิจของ SMEs  อยู่รอดในปี 2022 
 
สำหรับกลยุทธ์ที่จะนำมาช่วยเหลือ ประกอบด้วย  5 สิ่งที่ SMEs  ต้องเปลี่ยนมีอยู่ด้วยกัน 5’REs  ได้แก่ Retool : การเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงาน ใช้เทคโนโลยี การสื่อสารผ่านออนไลน์ , Re-Business : การเปลี่ยนวิธีหารายได้จากธุรกิจรูปแบบใหม่ ,Reunite : การเปลี่ยนใจให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน  เช่น ธุรกิจโรงแรม ที่เดิมมีรายได้จากการเข้าพัก ควรหารายได้จากการเปิดธุรกิจ ซัก อบ รีด เป็นต้น ,Re-Target : การเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่สอดรับกับธุรกิจและบริบทโดยรวม และ Re-Process : การเปลี่ยนกระบวนการเข้าหาลูกค้า โดยการให้บริการเชิงรุก ด้วยการสร้างความปลอดภัย และความมั่นใจให้กับบริการ
 
 
นอกจากนี้ SMEs ยังต้องทำ Do’s คือ 5L ประกอบด้วย Lean : การทำให้องค์กรแข็งแรงปราศจากไขมัน  , Learn : การเรียนรู้ อัพสกิล ตลอดเวลา , Linkage : การเชื่อมโยง เชื่อต่อ ต่อยอดธุรกิจ , Liquidity : การรักษาสภาพคล่อง และ Long Term : การวางแผนเติบโตอย่างยั่งยืน  ส่วนอีก 4 สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don’ts) เพื่อความอยู่รอด คือ Selfish :  การเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตนเอง  , Self-Centered : การยึดตนเองเป็นที่ตั้ง  , Static : การอยู่กับที่ , Stupid : การไม่เติมความรู้ 
  
นายภวัต กล่าวอีกว่า ปีหน้าใครไม่รอด เราต้องรอด และแค่รอดไม่พอ ธุรกิจต้องรุ่งด้วย ดังนั้นคู่มือที่เอ็มไอร่วมกับ CBS ทำออกมาเพื่อให้ผู้ประกอบการรับรู้ Paranoid ที่ SMEs ส่วนใหญ่กำลังเผชิญมีกำลังใจไปต่อได้  เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบาง ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจจึงต้องปรับตัวรับมือให้ดี  
 
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ หากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทิศทางการลงทุนในปีหน้าน่าจะมีแนวโน้มที่ดี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 4.9% ชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัว 5.9% ในปี2564 นี้ที่เติบโตจากฐานต่ำ โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วจะโต 4.5% ในปี 2565 ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะโต 5.1% ซึ่งเป็นการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับเศรษฐกิจไทย สภาพัฒน์ประเมินว่าจะขยายตัว 1.2% ในปี 2564 นี้ และโต 3.5-4.5% ในปี 2565
 
จากแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ล่าสุดศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้าไทยออกมาเผยผลสำรวจธุรกิจดาวรุ่ง-ธุรกิจดาวร่วง ประจำปี 2565 จากการให้คะแนน 5 ด้าน คือ ด้านยอดขาย ด้านต้นทุน ด้านกำไรสุทธิ ด้านผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง และด้านภาวะแข่งขันรวมทั้งหมด 100 คะแนน ได้ข้อสรุปออกมาดังนี้
10 ธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงปี 2565 ได้แก่ 1.ธุรกิจการแพทย์และความงาม ธุรกิจ e-commerce (ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่าน อิเล็กทรอนิกส์) 2.ธุรกิจแพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางด้าน อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้า 3.ธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต 4.ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และ ทางการแพทย์ ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ 5.ธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ ธุรกิจขายตรง 6.ธุรกิจแปรรูปยาง เช่น ถุงมือยาง ถุงยาง เป็นต้น ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป 7.ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber และการรีวิว สินค้า ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ เช่น อาหารสัตว์สำเร็จรูป การดูแล สุขภาพสัตว์ 8.ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจ Modern Trade(ร้านค้าปลีกสมัยใหม่) 9.ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน  และ 10.ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ธุรกิจท่องเที่ยว และบริการต่อเนื่อง
 
 
ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วงปี 2565 ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและเครื่องโทรสาร 2.ธุรกิจฟอกย้อม ธุรกิจหัตถกรรมที่ไม่มีการออกแบบและราคาถูก 3.ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและสถานที่ทำงาน 4.ธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ ธุรกิจคนกลาง 5.ธุรกิจผลิตและขายต้นไม้/ดอกไม้ประดิษฐ์ ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไร้ฝีมือ หรือเสื้อผ้าโหล 6.ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก 7.ธุรกิจร้านถ่ายรูป 8.ธุรกิจนำเที่ยวในประเทศ 9.ธุรกิจของเล่นเด็ก  และ 10.ธุรกิจ Call Center
  
การที่เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น  ถือเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า  การบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น  ซึ่งแนวโน้มที่ดีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อหลายภาคส่วน  ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคขนส่งและบริการ ภาคการส่งออก  หรือภาคการท่องเที่ยว  สิ่งดังกล่าวถือเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเดินหน้าต่อเนื่องอีกครั้ง  ถ้าไม่เจอปัจจัยลบที่ยากเกินการควบคุม
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ธ.ค. 2564 เวลา : 22:49:15
06-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 6, 2024, 8:41 am