ยังคงปรับตัวกันอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร เพราะจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องปรับตัวตาม ไม่ว่าจะธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจขนาดเล็ก เพราะถ้าไม่ปรับตัวธุรกิจก็อาจจะไปไม่รอด เห็นได้จากธุรกิจร้านอาหารทั้งรายใหญ่และรายเล็กที่หายไปจากตลาดจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารจึงต้องมีการปรับตัวกันอย่างหนัก ใครที่ไม่รู้จักโลกออนไลน์ก็ต้องหันกลับมาเรียนรู้ พร้อมกับหาโอกาสใหม่ๆ ในการที่จะเข้าถึงผู้บริโภค เช่นเดียวกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดออกมาปรับกระบวนท่าในการทำธุรกิจอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหารประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ,กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวตาม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ซึ่งในส่วนของบริษัทเองก็ได้มีการปรับตัวด้วยการหันมาขายอาหารในรูปแบบ take home และ Delivery มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของร้านอาหารในเครือโออิชิ และเคเอฟซี
นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับแต่งบริเวณหน้าร้านให้มีคอร์เนอร์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้ออาหารประเภทพร้อมทาน เช่น ซูชิ,ข้าวหน้าต่างๆ,ราเมน,ชาบู/สุกี้แบบเซ็ต,น้ำจิ้มสุกี้/ชาบู เพื่อนำกลับไปทานหรือปรุงที่บ้านได้ ขณะเดียวกัน ยังมีการเปิดให้บริการร้านโออิชิ บิซโทโระ (OISHI BIZTORO) สาขาแรกภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล อยุธยา เพื่อเป็นการทดลองโมเดลใหม่ร้านอาหารญี่ปุ่นไฮบริด ที่ผสมผสานระหว่างการให้บริการแบบจานด่วนและเรสทัวรองท์ โดยเน้นจำหน่ายร้านราเมนกับข้าวด้ง (ข้าวหน้าต่างๆ เช่น ข้าวหน้าเนื้อ ข้าวหน้ากุ้ง ข้าวแกงกะหรี่ ฯลฯ)ในรูปแบบฟาสต์แคชชวล ที่จำหน่ายทั้งอาหารจานเดียวและเซ็ตเมนู เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการความสะดวก สบาย รวดเร็ว ในราคาคุ้มค่า
นางนงนุช กล่าวกว่า การเปิดให้บริการร้านโออิชิ บิซโทโระ ถือเป็นธุรกิจโมเดลใหม่ที่บริษัทเรียกว่า "ไฮบริด" เพราะเป็นการผสมผสานระหว่าง QSR กับ Dine in เหมาะกับลูกค้าในต่างจังหวัด ที่ต้องการความง่าย สะดวก รวดเร็ว ซื้อง่าย อร่อย เบื้องต้นมองว่าลูกค้าเข้ามาใช้บริการในราคา 150-180 บาทต่อคน ขณะที่การลงทุนด้วยพื้นที่ไม่ถึง 100 ตรม. จึงทำให้ใช้ต้นทุนในการลงทุนต่ำกว่าร้านราเมน 20-30% ส่งผลให้มีโอกาสขยายสาขาได้มากขึ้นทั้งในรูปแบบที่บริษัทขยายเองและแฟรนไชส์ ซึ่งนอกจากร้านโออิชิจะมีโมเดลใหม่แล้ว ในส่วนของร้านเคเอฟซีก็มีโมเดลใหม่เช่นกัน โดย ไทยเบฟ ใช้ชื่อว่า “KFC Digital Lifestyle Store”
ในส่วนของร้าน KFC Digital Lifestyle Store มีจุดเด่นในด้านการให้บริการสั่งซื้ออาหาร จ่ายเงิน และรับสินค้าแบบไร้สัมผัส เปิดให้บริการสาขาแรกไปแล้วที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ โดยโมเดลนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ภายใต้กลุ่มธุรกิจอาหาร ของไทยเบฟฯ และเคเอฟซี ประเทศไทย โดยบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาเพื่อรองรับโลกดิจิทัล และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่
จากการเปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ดังกล่าว ทำให้ ไทยเบฟฯ มีแผนที่จะขยายสาขาร้านอาหารในรูปแบบดังกล่าวเพิ่มขึ้นในปี 2565 เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยในส่วนของแผนการลงทุนขยายสาขารวมทุกแบรนด์ ทั้ง เคเอฟซี,โออิชิ กรุ๊ป และฟู้ด ออฟ เอเชีย ไทยเบฟฯ ได้วางไว้ประมาณ 40 สาขา เน้นไปที่ร้านเคเอฟซี และโออิชิ เป็นหลัก เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 250-300 ล้านบาท ในการขยายสาขาเพิ่ม 10-15 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีการขยายสาขาใหม่ รวมทุกแบรนด์ 24 สาขา
ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารของกลุ่มไทยเบฟมีทั้งหมด 23 แบรนด์ รวม 673 สาขา ประกอบด้วย แบรนด์ โออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ,โออิชิ ราเมน,เคเอฟซี,หม่านฟู่หยวน,แม็กซ์แอนด์เค้ก เบเกอรี่ฯ โดยปีที่ผ่านมา (ต.ค. 2563-ก.ย.2564) มีรายได้รวม 11,280 ล้านบาท หดตัว 14.4% มีผลขาดทุน 488 ล้านบาท หรือติดลบ 383.2% จากปี 2563 ที่ขาดทุน 101 ล้านบาท
ก่อนหน้าที่บริษัท ไทยเบฟฯ จะออกมาปรับทัพธุรกิจร้านอาหาร ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจอาหาร ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG และบริษัท เซ็นคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ก็ออกมาประกาศแผนปรับทัพลุยธุรกิจร้านอาหารแล้วเช่นกัน
เริ่มจาก CRG ที่ออกมาปรับแผนหันรุกบริการในรูปแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะแบรนด์เคเอฟซี ที่จะเน้นไปที่การขยายสาขาโมเดลใหม่ เพื่อให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็เน้นไปที่การมองหาทำเลใหม่ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในรูปแบบเดลิเวอรี่ และออมนิแชนเนล โดยจะเน้นไปที่มหาวิทยาลัย และอาคารสำนักงาน เพื่อเสิร์ฟความอร่อยให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และพนักงานออฟฟิศ ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการตอบโจทย์ urban lifestyle ด้วยบริการ self-pick up ที่ลูกค้าสามารถสั่งผ่านมือถือได้ล่วงหน้า แล้วแวะมารับที่ร้านเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งหลังจากปรับแผนหันมาลุยทำการตลาดในรูปแบบดังกล่าว ทำให้ CRG มีแผนที่จะขยายสาขาร้านเคเอฟซี ที่มีบริการดังกล่าวอีกไม่ต่ำกว่า 30 สาขา
ด้าน บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ก็หันมามุ่งขยายสาขาภายใต้โมเดลแฟรนไชส์ ควบคู่ไปกับการให้บริการเดลิเวอรี่และแพลตฟอร์มออนไลน์ ขณะเดียวกันก็จับมือร่วมกับบริษัท เค.เอส.เอฟ. ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อบริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด (ZEN and Kosum Interfoods Co.,Ltd) เพื่อต่อยอดขยายธุรกิจอาหารค้าปลีก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องปรุงรสเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขยายสาขาร้านอาหารแบรนด์อื่นๆ ในเครือ เช่น เขียง และ อากะ โดยในส่วนของร้านเขียง ZEN ได้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ เนื่องจากเป็นร้านอาหารขนาดเล็กราคาเข้าถึงได้ จึงเน้นเป็นหัวหอกหลักในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์
ข่าวเด่น