บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron มีความเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 1/65 โดยหากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ภายในไตรมาสที่ 1/65 จะมีความเสี่ยงต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและผลการดำเนินงาน บจ.ปี 2565 ที่ได้คาการณ์ไว้ล่าสุด ประเมิน SET Index ปี 2565 มีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1550-1750 จุด แนะนำ 10 หุ้นเด่น โดยเลือกหุ้นที่เติบโตดีราคาไม่แพงรวมถึงหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจของโลกยุคใหม่ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2565 โดยตั้งไว้ 3 สมมติฐาน 5 คำทำนาย ประกอบด้วยสมมติฐาน 1) COVID-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นอันเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง 2) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกฟื้นตัว 60-90% และ 3) ปัญหาคอขวดด้านอุปทานจะเริ่มคลี่คลายลง
ส่วน 5 คำนายหลัก SCBS ได้แก่ 1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกปี 2565 จะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น 2) เงินเฟ้อโลกจะลดลงในครึ่งหลังปี 2565 3) นโยบายการเงินโลกจะตึงตัวขึ้นเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยกเว้น จีน ที่ยังคงมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสร้างสมดุลเศรษฐกิจ 4) สงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และ 5) ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 5 ปัจจัย ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความผันผวนของตลาดการเงินโลก ความเสี่ยง Global Stagflation ความผันผวนด้านภูมิอากาศโลก และ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่อาจรุนแรงกว่าสายพันธุ์ Delta
อย่างไรก็ตาม การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron มีโอกาสกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2565 ให้ลดลงจากระดับที่ IMF เคยคาดการณ์ไว้สำหรับปี 2022 ที่ 4.9% เหลือเพียง 3.6% หากไม่สามารถควบคุมการระบาด ได้ภายในไตรมาสที่ 1/65 ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้นอัตราการเติบโตของ GDP ปี 2565 มีความเสี่ยงลดลงจากประมาณการณ์ล่าสุดที่ 3.6% เหลือ 2.5% หากแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป รวมถึงรัฐบาลกลับมาคุมเข้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
ประเมินระดับ SET Index ปี 2565 อิงกับปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1660 จุด และ คาดว่าจะมีกรอบการเคลื่อนไหวบริเวณ 1550-1750 จุด แนะนำ 10 หุ้นเด่น ที่คาดว่าผลการดำเนินงานปี 2565 จะเติบโตเด่น ได้แก่ KBANK, AMATA, ZEN, LH และ GULF รวมถึงหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจของโลกยุคใหม่ ได้แก่ DELTA, ADVANC, ONEE, SECURE และ XPG
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ Chief Research Officer บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ปี 2564 ที่ผ่านมานั้นเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้โลกจะเกิดวิกฤติ COVID-19 แต่ความผันผวนของตลาดหุ้นกลับลดลง ดังจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ SET Index ฟื้นตัวกลับไประดับก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 แล้ว ทั้งๆที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงถือว่ารุนแรง ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลทั่วโลกเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ อัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดการเงินอย่างรุนแรงและรวดเร็วเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูงมาก จึงทำให้นักลงทุนกล้าที่จะเสี่ยงนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น
สำหรับ ปี 2565 นั้น ประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ซึ่งหมายถึง อัตราการเติบโตของ GDP ในระดับที่มีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะชะลอตัวลง อัตราดอกเบี้ยที่เริ่มปรับตัวขึ้น การเพิ่มภาษีขึ้นบ้าง เพื่อสร้างสมดุลให้กับฐานะการเงินของรัฐบาล และสุดท้าย คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นจะลดลงจากปี 2564
โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) จะชะลอตัว โดย IMF ประเมินว่า GDP จะเติบโต 4.5% ในขณะที่คาดว่าอัตราการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) จะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังปี 2565 โดย IMF ประเมินว่า GDP จะเติบโต 5.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเปิดประเทศได้มากขึ้น หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมากขึ้นซึ่งจะส่งผลธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยชดเชยกับการลดลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงการระบาดของ COVID-19 ในปี 2563-64 ได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาด
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทย “มองบวกอย่างระมัดระวัง” ปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเติบโต 3.6-4.0% จากที่หดตัวลง -6.1% ในปี 2563 และเติบโต +1.0% ในปี 2564 ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกปี 2565 จะเติบโต 2% GDP จะเติบโต 3.6 – 4.0% และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 8 ล้านคน ด้านกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 6% YoY ในปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนจาก GDP ที่เติบโต 3-4% SCBS ประเมินผลตอบแทนของ SET Index ได้ที่ 5% ภายในสิ้นปี 2565 และ 8% เมื่อรวมเงินปันผล ในกรณีเลวร้ายหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ะบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ได้อาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงเหลือ 2.6% (กรณีเลวร้ายที่สุด) ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสเติบโตใกล้ 0%
กลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นเติบโตที่ราคาสมเหตุสมผล โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) หุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะกลับมาเติบโตได้ดีตามวัฏจักรเศรษฐกิจและการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ได้แก่ KBANK, AMATA, ZEN, LH และ GULF และ 2) หุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด ได้รับประโยชน์จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจของโลกยุคใหม่ ได้แก่ DELTA, ADVANC, ONEE, SECURE และ XPG
สรุปประเด็นการลงทุนของหุ้นรายตัว
• KBANK: หนึ่งในผู้นำด้าน Digital banking คาดกำไรสุทธิปี 2565 มี upside จาก credit cost ที่มีโอกาสลดลง
• AMATA: คาดว่ายอดการโอนที่ดินจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 จากลูกค้าหลักในกลุ่มพลังงาน ยานยนต์ และ โลจิสติกส์
• ZEN: ได้รับประโยชน์จากการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ส่งผลบวกต่อแนวโน้มกำไรปี 2565
• LH: ปี 2565 คาดได้รับแรงหนุนจากการผ่อนปรน LTV บ้านหลังที่ 2 และ 3 เต็มที่ เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมของการเปิดโครงการใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น 50%
• GULF: กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.4% ต่อปีในช่วง 7 ปีข้างหน้า ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน INTUCH ช่วยสร้างความมั่นคงของกำไรสุทธิ
• DELTA: ได้รับประโยชน์จากฐานลูกค้าในกลุ่ม EV car, พลังงานสะอาด และ โทรคมนาคม
• ADVANC: มีโอกาสจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นสำหรับปี 2565 เนื่องจากงบลงทุนลดลง รวมถึงได้รับประโยชน์จากเทรนด์ธุรกิจ Metaverse
• ONEE: ประเมินธุรกิจโฆษณาผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนในปี 2565
• SECURE: ได้รับประโยชน์จากโลกในยุคดิจิทัลที่ทำให้ความปลอดภัยในเรื่องของข้อมูลมีความสำคัญมากขึ้น
• XPG: ผลประกอบการปี 2565 Turnaround หลังเข้าสู่ธุรกิจ Digital Asset
ข่าวเด่น