กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อวันพฤหัสที่ 6 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเก็บภาษี Cryptocurrency โดยที่ทางกรมสรรพากรได้มีการชี้แจงถึงวิธีคิดคำนวณภาษีในรายการ Morning Wealth ของช่อง The Standard Wealth (https://www.youtube.com/watch?v=O5_IfCfjFM0) ไว้ว่าการเก็บภาษีนั้นจะเรียกเก็บจากการเทรดเหรียญคริปโตแต่ละครั้งที่ได้กำไร โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากจำนวนกำไรที่ได้ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร เงินได้ตามมาตรา 40(4) แต่ถ้าหากขาดทุนผู้ลงทุนหรือผู้เทรดรับผิดชอบกับยอดเงินที่หดหายเพียงผู้เดียว และไม่สามารถนำส่วนที่ขาดทุนมาหักลบกับ Transaction ที่เราเทรดแล้วได้กำไร ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ สมมติว่า
* ได้กำไร
เราซื้อ Bitcoin เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท
ขายได้ 1,500,000 บาท
ซึ่งได้กำไรจำนวน = 500,000 บาท
* ขาดทุน
ต่อมาเราได้เข้าซื้อ Bitcoin อีกเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท
ขายได้ 700,000 บาท
ซึ่งขาดทุนเป็นจำนวน = 300,000 บาท
ในตอนยื่นภาษีเราต้องนำเอากำไรเป็นจำนวน 500,000 บาท ของ Transaction แรกไปยื่น ไม่สามารถนำ Transaction ที่ขาดทุน 300,000 บาท ไปหักลบกับกำไรการเทรดครั้งแรกได้
พูดง่ายๆ ก็คือ หากครั้งไหนเทรดแล้วได้กำไรจะโดนคิดภาษี แต่ถ้าหากเทรดแล้วขาดทุนหรือติดลบนั้นผู้เทรดต้องรับผิดชอบเอง ซึ่งจากตัวอย่าง ถ้าหากกรณีที่แย่กว่านั้น เราขาดทุน 500,000 บาท เท่ากับว่าเรามีเงินต้นหลังเทรดจำนวน 1,000,000 บาทอยู่เท่าเดิม แต่ก็ยังต้องเสียภาษีจากครั้งที่เราทำกำไรได้ 500,000 บาท อยู่ดี ซึ่งก็ต้องปันเงินจากเงินต้นมายื่นจ่ายภาษีคริปโต เรียกได้ว่า ผู้ลงทุนนั้นมีแต่เสียกับเสีย
ยิ่งไปกว่านั้นการเสียภาษี 15% ณ ที่จ่าย ไม่ได้ถือเป็น Final TAX เรายังต้องแสดงกำไรจากการเทรดเหรียญคริปโตไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งจำนวนอยู่ดี เท่ากับว่าเรามีหน้าทีเสียภาษี 2 ครั้งด้วยกัน ทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้ปลายปี ที่เราต้องบวกเข้าไปเป็นรายได้รวมที่ต้องเสียภาษี ซึ่งหากบุคคลใดที่มีรายได้รวมเป็นจำนวนเงินก้อนใหญ่ก็มีโอกาสที่อาจจะเสียภาษีคริปโตถึงมากกว่า 30% ก็เป็นได้
การต้อนรับปีใหม่ 2022 ด้วยการประกาศรายละเอียดการเสียภาษีคริปโต ในวันพฤหัสที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมในหมู่ผู้คนที่เทรดและลงทุนใน Cryptocurrency เป็นจำนวนมาก จากทั้งทางเฟสบุ๊ค และการติด Hashtag #ภาษีคริปโต ทางทวิตเตอร์ เนื่องจากประเด็นข้างต้นที่เราต้องจ่ายภาษีในเฉพาะส่วนที่เป็นกำไร แม้ผลรวมในปีนั้นจะขาดทุนก็ตาม และการที่ผู้ลงทุนต้องไล่เก็บดูข้อมูลแต่ละTransaction ทั้งหมด เพื่อคำนวณกรอกยื่นภาษี ซึ่งในทางปฏิบัติจริงหลายๆ คน ที่เทรดเหรียญโดยมี Transaction เป็นจำนวนมากก็อาจเกิดความยุ่งยากในการรวบรวมข้อมูล
ด้าน itax เว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลกฎหมายเกี่ยวกับภาษีครบทุกด้าน กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า การคำนวณภาษีคริปโตจากกำไรทำได้ยากมากๆ ในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังเกิดช่องว่างบางประการที่รอการตีความอยู่ด้วย
และด้าน นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งผู้ให้บริการเว็บเทรดซิปเม็กซ์ (Zipmex) ประเทศไทยก็ได้ออกความเห็นว่า
“ถ้าจะมองว่าคริปโตเป็นสินค้าก็คิดเป็น Withholding Tax ไป แต่นี่เรามองเป็นสินทรัพย์ด้วยจึงจัดเก็บ Capital Gain Tax อีก แต่ Capital Gain Tax ก็ไม่เหมือนในประเทศอื่นที่เขาแยกจากภาษีรายได้บุคคล ไม่ใช่คิดเฉพาะจากกำไร ส่วนขาดทุนเอามาหักลบกันไม่ได้ ผมคิดว่าการคิดแบบนี้เป็นการคิดภาษีที่ผิดหลักการ จริยธรรม และผิดจากหลายตำราเลย”
การชี้แจงการเสียภาษีคริปโตดังกล่าว เป็นเพียงการอ้างมาจากข้อบทกฎหมายที่มีใน ณ ปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทาง ไกด์ผู้ลงทุนในเหรียญคริปโตได้เตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ก่อน นอกจากนี้ ในส่วนของ Exchange ในไทยเองก็ได้อยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับ Regulation ต่างๆ เพื่อในอนาคตอาจมีการสรุปยอดที่มีกำไรในทุก Transaction ของที่ผู้ใช้บริการในแต่ละ Exchange เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกผู้ลงทุนในการยื่นภาษี โดยไม่ต้องนั่งรวบรวม Trasaction เอง
ทั้งหมดนี้ ทำให้เราต้องจับตาดูกันแบบตาไม่กระพริบ ถึงข้อสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับการเก็บภาษีคริปโตที่เป็น Execution หรือข้อที่ปฏิบัติได้จริง ว่าจะทำให้บรรยากาศของตลาดการลงทุนประเภท Digital Asset ของประเทศไทย เป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ ซึ่งคาดว่าเราจะได้รับคำตอบภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้
ข่าวเด่น