เวลาเรากินข้าว ดื่มน้ำ แปรงฟัน ขึ้นรถเดินทางไปทำงาน หรือเล่นกับน้องหมาของเรา การกระทำในทุกๆ อย่างที่กล่าวมานี้ แน่นอนว่ามันอยู่บนพื้นฐานของโลกแห่งความเป็นจริง ที่เราได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งการสัมผัส กลิ่น รสชาติ การมองเห็น และการได้ยิน เป็นโลกทางกายภาพ หรือ Physical World ที่จับต้องได้ ส่วนการเล่น Facebook อัพสตอรี่คุยกับเพื่อนบน Instagram หรือจะ Live สดขายของ เป็น Streamer เล่นเกมเปิดช่องให้แฟนคลับได้ดู เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกสื่อสังคมออนไลน์ที่เราก็คุ้นเคยกับมันดีอยู่แล้ว แต่โลกของเรายังหมุนไปข้างหน้า เทคโนโลยีและวิวัฒนาการยังสามารถพัฒนาออกไปได้อีกอย่างไม่มีสิ้นสุด ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “Metaverse” เริ่มมีบทบาทกับสังคมมากขึ้น ซึ่ง “Metaverse” มันก็มีรากฐานมาจากโลกของดิจิทัลนี้เอง แต่แนวคิดของคำนี้ๆยังต่อยอดไปได้มากกว่านั้น เพราะใช้เป็นคำที่ใช้เรียกโลกที่มีการสร้างและผสานสภาพแวดล้อมของโลกจริงๆ ที่เรากำลังหายใจอยู่ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล จนกลายเป็น “ชุมชนโลกเสมือนจริง” โดยเราจะมีตัวตนหรือ Identity อยู่แบบดิจิทัล ซึ่งจะมีตัวตนอยู่ทั้งโลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริงในเวลาเดียวกัน จนอาจไม่สามารถแยกออกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดอยู่บนโลกไหนกันแน่ เช่น เราอาจจะสามารถเข้าชมคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชอบโดยไม่ต้องเดินทาง หรือการเลือกซื้อสินค้าในโลกเสมือนแล้วได้รับสินค้าดังกล่าวมายังโลกจริง เป็นต้น ซึ่งคำๆ นี้มันแมสมาถึงในประเทศไทยที่ราชบัณฑิตยสภา บัญญัติคำว่า “จักรวาลนฤมิต” แทนการเรียก “Metaverse” กันเลยทีเดียว
กระแสของ Metaverse ได้เกิดบูมขึ้นมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างจากการที่ Mark Zuckerberg ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทของตนจาก Facebook เป็น “Meta” ผ่านการประชาสัมพันธ์ด้วยคลิปวีดีโอบน Account Facebook ของตน (https://www.facebook.com/zuck/videos/1898414763675286) โดยจะปั้นธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นมา ด้วยการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีโลกเสมือน ซึ่ง Mark Zuckerberg ได้นิยามว่า Metaverse นั้นเป็นสิ่งแวดล้อมเสมือนที่เชื่อมโยงชุมชนเสมือนจริงต่างๆ เข้ามาอยู่ด้วยกัน ผู้ใช้งานในโลกแห่งนี้สามารถพบปะ มี Interact กับคนอื่น ทำงาน ซื้อของออนไลน์ หรือเข้าสื่อสังคมออนไลน์ได้ ซึ่งจะเป็นอีกเขตแดนหนึ่งที่ผู้คนจะต้องก้าวเข้าไปอย่างมีนัยสำคัญ และได้คาดการณ์ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ Metaverse นี้ จะเข้าถึงผู้คนได้ถึงประมาณ 1 พันล้านคน และกลายเป็นระบบนิเวศใหม่ (New Ecosystem) ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจากการรีแบรนด์ เปลี่ยนชื่อบริษัทครั้งนี้ของทาง Facebook ส่งผลให้ราคาในตลาดหุ้นขยับขึ้นมาทันที 1.5% หลังจากการประกาศ และจากข่าวนี้ยังได้ส่งแรงกระเพื่อมที่ทำให้ราคาเหรียญดิจิทัลของโปรเจค Metavese ที่อยู่ในตลาด Cryptocurrency อยู่ก่อนแล้ว ณ ขณะนั้นได้พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทันที เช่น
Decentraland (https://decentraland.org/) แพลตฟอร์มเกมที่ทำให้ผู้ใช้งานได้เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงที่สร้างขึ้นบน Blockchain ของ Ethereum ผู้ใช้งานสามารถสร้าง Avatar แทนตัวเอง เลือกซื้อเครื่องแต่งกาย Item ในเกมต่างๆ พบปะพูดคุย จัด Event คอนเสิร์ต สร้าง Community ของตน และสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้งานอื่นๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถซื้อที่ดิน (Land) สร้างเป็นสถานที่ต่างๆ ได้ตามใจเรา ซึ่งการซื้อขายที่เกิดขึ้นนั้น จะใช้สกุลเหรียญที่ชื่อว่า “MANA” กระแสของ Metaverse ที่ถูกเพิ่มเชื้อเพลิงโดยบริษัท Meta นี้เอง ทำให้ราคาเหรียญ MANA พุ่งขึ้นหลังจากการประกาศรีแบรนด์ ทันทีในวันที่ 29 ตุลาคม อ้างอิงจากกระดานเทรดของ Coinbase กราฟแท่งวันราคาพุ่งขึ้นสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1.69 ดอลลาร์สหรัฐ และราคา All Time High สูงสุดอยู่ที่ 5.91 ดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นกว่า 600% จากที่ทั้งเดือนตุลาคม 2564 ราคาทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 0.8 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ทางด้านของโปรเจค Metaverse อีกเจ้าหนึ่งอย่าง The Sandbox แพลตฟอร์มเกมโลกเสมือนที่สร้างขึ้นบน Blockchain ของ Ethereum เช่นกัน ผู้ใช้งานสามารถเป็นเจ้าของที่ดิน (Land) สรรค์สร้างโลกเสมือนของตนได้อย่างอิสระ และยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ได้เหมือนกับโปรเจค Decentraland ซึ่งจะใช้เหรียญที่ชื่อว่า “SAND” ในการซื้อที่ดินและ Item ต่างๆ โดยราคาของเหรียญที่ได้รับอิทธิพลของการเปิดตัว Meta อ้างอิงจากกระดานเทรด Binance จากราคาต่ำสุดของเหรียญ SAND ในวันที่ 28 ต.ค.2564 ก่อนวันประกาศอยู่ที่ 0.739 ดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นสูงสุดไปยัง 3.537 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 3 พ.ย 2564 ซึ่งผนวกกับข่าวดีที่ได้รับเงินสนับสนุนด้วยการระดมทุนกว่า 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทการลงทุนยักษ์ใหญ่อย่าง Softbank Vision Fund 2 เป็นอีก 1 แรงโหมด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น โปรเจค The Sandbox ได้ทำการเปิดตัวให้เจ้าของที่ดินได้อภิสิทธิ์ในการเข้าไปทดลองเล่นบนโลกเสมือนของโปรเจคในระบบ Play to Earn ซึ่งจะมีการเปิดให้เล่นทั้งหมด 18 Experiences หากเล่นครบตามที่กำหนดจะได้รางวัลเป็นเหรียญ SAND 1,000 เหรียญ และ NFT อีก 3 โดยสามารถเข้าไปเล่นในระบบครั้งแรกได้ในวันที่ 29 พ.ย. 2564 (ซึ่งตั้งแต่ริเริ่มก่อตั้งโปรเจคมายังไม่เคยเปิดให้เข้าไปเล่น มีแต่เปิดให้ผู้สนใจซื้อขายที่ดินภายในเกมเท่านั้น) ซึ่งข่าวดีนี้ได้ถูกประกาศออกไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 ส่งผลให้ภายในวันเดียวกันนั้น ราคาของเหรียญ SAND ปรับสูงขึ้นจากราคาต่ำสุด 2.69 ดอลลาร์สหรัฐในวันก่อนหน้า ขึ้นไปสูงสุด 3.658 ดอลลาร์สหรัฐ และมีราคา All Time High ในวันที่ 25 พ.ย. 2564 อยู่ที่ 8.8 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้นกว่า 225% เลยทีเดียว โดยผลของราคาดังกล่าว ก็ยังมีอีก 1 ปัจจัยกระตุ้น นั่นก็คือ การที่ Addidas บริษัทอุปกรณ์กีฬาชื่อดังที่เราคุ้นเคยกันดี ได้เข้าสนับสนุน The Sandbox ด้วยการซื้อที่ดินไปเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2564 พร้อมทวีตคำว่า “AdiVerse”ในบัญชีทวิตเตอร์ ทำเอาผู้ที่ลงทุนใน Metaverse ตื่นเต้นกันไปตามๆ กันว่า Addidas อาจกำลังซุ้มทำโปรเจคอะไรบางอย่างใน The Sandbox ซึ่งอาจกลายเป็นข่าวดีให้กับตัวแพลตฟอร์มนี้ในอนาคต
โปรเจค Metaverse ยังไม่หมดอยู่แค่ 2 เจ้า ที่เราได้กล่าวไปข้างต้น ยังมีทั้ง Axie Infinity (AXS), Alien Worlds (TLM), My Neighbor Alice (ALICE), WAX (WAXP) และโปรเจคอื่นๆ (สามารถเข้าไปดู List เพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ CoinMarketCap: https://coinmarketcap.com/view/metaverse ) ซึ่งท้ายที่สุดโปรเจคไหนจะกลายเป็นเรือธงในด้านเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ Metaverse ก็ต้องคอยจับตาดูการพัฒนาการออก Feature ใหม่ๆ หรือสอดส่องบริษัทที่จะเข้าร่วมลงทุนเป็น Partner กันต่อไปให้ดี เพราะหัวใจของ Metaverse ยังไงแล้ว อันดับหนึ่งก็ต้องอาศัย User มาอยู่รวมกันเป็น Community หาก Community ของโปรเจคไหนมี User และผู้ใช้งานที่เยอะเพียงพอ โปรเจคนั้นก็จะกลายเป็น Ecosystem ที่แข็งแกร่งในวงการของ Metaverse ซึ่งในปัจจุบันไม่มีใครสามารถการันตีได้ 100% ว่าโปรเจคไหนจะดัง หรือโปรเจคไหนจะต้องกลับบ้านเก่าไป
ฉะนั้นทาง AC News ขอแนะนำให้ผู้อ่าน “DYOR” หรือ “Do Your Own Research” ศึกษาค้นคว้าโปรเจคที่น่าสนใจด้วยตัวเองอีกทีให้ดีก่อนการลงทุนในทุกๆ ครั้ง เพื่อที่เราอาจจะได้เจอทริคการลงทุนของตัวเองระหว่างทาง และใช้มันเป็น Indicator เพื่อสร้างความมั่งคั่งในการลงทุนทางด้าน Digital Asset ที่เหมาะสมกับตัวเองอย่างยั่งยืน
ข่าวเด่น